โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป เป็นองค์กรตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะก่อตัวขึ้นมาในระยะ เวลาอันสั้นเพียง 6 ปีเท่านั้น แต่สามารถสร้างผลกระทบที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติได้มากโดยเป็นองค์กรที่ทำงานซึ่งปกติจะสร้าง "ความทรมาน" ให้แก่ผู้ถูกประเมิน แต่กลับเป็นที่ยอมรับและชื่นชมอย่างกว้างขวางจากวงการที่เกี่ยวข้อง นับเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าไฮแทปทำอย่างนี้ได้อย่างไร
ประเทศเจริญแล้วหลายประเทศมีการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เช่น สหราชอาณาจักรมี"สถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการรักษาแห่งชาติ" ส่วนออสเตรเลียมี "คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์" สาธารณรัฐเกาหลีมี "องค์กรประสานด้านบริการสุขภาพอิงหลักฐานแห่งชาติ" องค์กรเหล่านี้ล้วนทำหน้าที่อย่าง "มืออาชีพ" ในการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ไฮแทปเรียนรู้จากองค์กรเหล่านี้
ไฮแทปทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ โดยวางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การวิจัยและพัฒนาฐานรากของการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ 2) การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทั้งระดับบุคคล องค์กร และบริบทของระบบสุขภาพ 3) การมุ่งประเมินหรือตอบสนองความต้องการของสังคม 4) การจัดการความรู้แล้วเชื่อมโยงผลงานการวิจัยไปสู่นโยบายและการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพและสาธารณชน 5) การพัฒนาระบบบริหารจัดการภายใน จัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายของนักวิชาการและองค์กรวิจัยที่ทำการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพในประเทศไทย
ไฮแทปทำงานอย่างมีขั้นตอน เริ่มจาก 1)การพัฒนาคู่มือการประเมิน 2) การพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3)การพัฒนารายการต้นทุนมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข และ 4) การพัฒนาการประเมินคุณค่าทางสังคมต่อการลงทุนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไฮแทปสามารถพัฒนาคู่มือการประเมินแล้วเสร็จและสามารถเผยแพร่ได้โดยใช้เวลาร่าง 1 ปี เป็นฉบับที่ 1 ที่มุ่งเน้นแนวทางสำหรับการประเมินด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขซึ่งเป็นหนึ่งในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้การประเมินมีมาตรฐานให้ทุกฝ่ายมั่นใจในความเป็นกลาง ป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเน้นการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการดำเนินงานมาตรฐานเพื่อให้สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานและโปร่งใสตรวจสอบได้อย่างแท้จริง
หลังจากได้เครื่องมือแล้วขั้นตอนต่อมา คือ การสร้างนักวิจัยที่สามารถทำงานด้านนี้ได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งต้องขยายแวดวงไปสู่ผู้ที่จะนำผลการประเมินไปใช้ ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีการนำทั้งผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาวิจัยตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ต้องทำทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานผู้ให้บริการสุขภาพหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นและความสำคัญ และมีความรู้ความเข้าใจในการที่จะต้องมีการประเมินและนำผลการประเมินไปใช้
ขั้นตอนต่อไป คือ จะต้องเลือกเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัยและประเมินที่มุ่งตอบสนองความต้องการของสังคม โดยกำหนดขอบเขตการทำงานได้อย่างครอบคลุมรอบด้านทั้งที่เป็นเทคโนโลยีการรักษา การฟื้นฟูสภาพ การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ รวมไปถึงมาตรการทางสังคมและนโยบายสาธารณะอื่นๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อสำคัญ คือ ต้องสามารถทำงานให้ได้มาตรฐานและสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ทันท่วงที
เมื่อได้ผลการวิจัยและการประเมินแล้วจะต้องมีการจัดการความรู้ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างได้ผลและมีพลัง ผลการประเมินจึงต้องจัดทำออกมาในรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่ 1) วารสารวิชาการสำหรับแวดวงวิชาการโดยทำทั้งในรูปแบบบทความวิชาการ และเอกสารวิชาการอื่นเช่น มอโนกราฟ ให้สามารถอ้างอิงในเชิงลึกได้ 2) เป็นเอกสารหรือสื่ออื่นสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เช่น เป็นบทสรุปนโยบาย บทสรุปผู้บริหาร 3) สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ให้สามารถนำผลการประเมินไปใช้อย่างเข้าใจและเต็มใจ 4) สำหรับสื่อมวลชน ทั้งนี้จะต้องมีรูปแบบในการสื่อสารที่หลากหลาย เช่น ผ่านการประชุม สัมมนาแถลงข่าว การจัดนิทรรศการ การเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมเป็นต้น ลูกค้าหลักของไฮแทป ได้แก่คณะอนุกรรมการบัญชียาหลัก ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ทั้งสองคณะนี้ร่วมกันกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านยาของระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย
สุดท้ายคือ การพัฒนาองค์กรของไฮแทปเอง รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถ โดยการจัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายทั้งนักวิชาการและองค์กรที่ทำงานด้านนี้ในประเทศ ตามหลักINNE คือ ตัวนักวิชาการระดับบุคคล องค์กรเครือข่าย และสภาพแวดล้อม น่าสนใจว่า หลัง2 ปีของการทำงาน ไฮแทปก็ทำการประเมินตนเอง ปรากฏเป็นเอกสาร "ก้าวแรก" ที่บันทึกผลการประเมินไว้อย่างดี พอครบ 5 ปี ก็มีการประเมินเพื่อพัฒนาตนเองอีกรอบปรากฏเป็นเอกสาร "การเดินทางของ HITAP เพื่อสร้างและใช้หลักฐานวิชาการสำหรับการตัดสินใจในระบบสุขภาพไทย" เป็นบันทึกการประเมิน ซึ่งเป็นไปตามหลัก "โยนิโสมนสิการ" และ "ปรโตโฆสะ" อย่างแท้จริง เป็น "ประเมินแห่งประเมิน" โดยแท้ และเป็นแบบอย่างของการประเมิน "อย่างมืออาชีพ" ที่น่าศึกษา
ไฮแทปได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. 30 ล้านบาท ใน 3 ปีแรก แต่ทำงานจริงๆ เกือบ70 ล้านบาท และในช่วงสามปีที่สอง ได้ทุนสนับสนุน 70 ล้านบาท แต่ทำงานจริงๆ กว่า 120 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากที่ สสส.สนับสนุน ได้รับมาจากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่นสวรส. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก หลังจาก 6 ปีแล้วไฮแทปสามารถอยู่ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจาก สสส.เป็นหลักอีกต่อไป นับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ สสส.ได้ลงทุนไปในลักษณะจุดประกายหรือตัวเร่งปฏิกิริยา คือ สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมขึ้นในประเทศไทย และสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาทุนจาก สสส.เป็นหลักอีกต่อไป
การทำงานอย่าง "มืออาชีพ" และอย่างมั่นคงในคุณธรรม ด้วย "วัตรปฏิบัติ" อันสมควรเป็นแบบอย่างเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จะได้สรุปด้วยความชื่นชมไว้อย่างชัดเจนว่าไฮแทปนั้น "มีผลงานเป็นที่ชื่นชมและยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและวงการต่างประเทศ"
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556
- 15 views