การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ตั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ โดยให้แต่ละเขตบริหารจัดการ 5-7 จังหวัดในพื้นที่ ในรูปคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นประธาน ก่อเกิดคำถามว่า การบริหารรูปแบบนี้มีความชอบธรรม เป็นการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคจริงหรือไม่ เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า สุดท้ายแล้วรูปแบบนี้ "อำนาจ" ยังอยู่ที่ส่วนกลางอยู่ดี
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.
เรื่องนี้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ในฐานะผู้ที่ดูแลงานด้านการจัดการเขตบริการสุขภาพ ชี้แจงว่า เขตบริการสุขภาพเป็นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่โดยตรง ซึ่งอนาคตอาจพัฒนา หรือแปรรูปเป็นองค์การมหาชน หรือรูปแบบของท้องถิ่นที่ดูแลตัวเองได้ ไม่ได้เป็นการดึงอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพมีผู้แทนหลายฝ่าย ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตัวแทนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นต้น
ที่สำคัญการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพของไทย ไม่ได้จัดทำแบบลอยๆ แต่มีตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยเฉพาะไต้หวัน ซึ่งมีการจัดทำเป็นเขตบริการสุขภาพขึ้น โดยให้เขตดูแลกันเอง ที่สำคัญยังมีการผลิตแพทย์เฉพาะเขตของตนเอง ทำให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ หรือแพทย์กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่หมดไป
คำถามที่ตามมาคือ การจัดการเขตบริการสุขภาพจะเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการ ทั้งการบริการประชาชนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการลดปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง รวมไปถึงการบริการที่ดีและรวดเร็วขึ้น ลดปัญหาการรอคิว เป็นต้น
นพ.วชิระให้คำตอบว่า เป้าหมายของการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ คือ ลดปัญหาดังกล่าว โดยใช้รูปแบบกระจายอำนาจไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ให้ดูแลกันเองเป็นกลุ่มเครือข่าย ทำงานลักษณะเหมือนโรงพยาบาลเดียวกันหมด แต่เป็นเครือข่าย หรือสาขาย่อย ซึ่งตรงนี้จะทำให้โรงพยาบาลสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะหากโรงพยาบาลหนึ่งมีปัญหา อีกโรงพยาบาลจะเข้าช่วยเหลือ เรียกลักษณะนี้ว่า การทำงานแบบเครือข่ายไร้รอยต่อ หมายความว่า ทั้งโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องทำงานเชื่อมโยงกันหมด ไร้รอยต่อระหว่างกันในระดับเขตบริการสุขภาพของตนเอง
"ยกตัวอย่าง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน สามารถผ่าตัดหัวใจ หรือรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาได้ จะต้องทำงานข้ามโรงพยาบาลในเครือข่ายเขตสุขภาพเดียวกัน ไม่ใช่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น แต่ยังต้องไปช่วยโรงพยาบาลเล็กๆ ในการผ่าตัดผู้ป่วยด้วย ซึ่งการเพิ่มภาระงานตรงนี้จะมีค่าตอบแทนเพิ่มในรูปแบบเงินโอที หรือโอเวอร์ไทม์ ซึ่งขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างระเบียบการปรับค่าตอบแทนในส่วนนี้ เบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเฉพาะในการร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการประชุมจัดทำร่างภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556 เพื่อให้เริ่มดำเนินการประกาศแนบท้ายเป็นค่าตอบแทนเงินบำรุงของโรงพยาบาลภายในเดือนมกราคม 2557 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับบุคลากรสาธารณสุข" นพ.วชิระกล่าว
นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญอีกอย่างคือ ต้องมีการพัฒนาระบบการส่งต่อและส่งกลับให้รวดเร็ว และมีเตียงเพียงพอ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อผ่าตัดเสร็จจะไม่สามารถกลับไปพักฟื้นในโรงพยาบาลอำเภอได้ เนื่องจากระบบส่งต่อไม่ดีพอ และยังขาดแรงจูงใจ
รองปลัด สธ.บอกว่า จากนี้ไปผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วเสร็จในโรงพยาบาลระดับจังหวัด จะต้องไปพักฟื้นในโรงพยาบาลระดับอำเภอ เนื่องจากมีอัตราการครองเตียงต่ำกว่า ซึ่งการส่งผู้ป่วยไปพักฟื้นนั้นจะมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนในเรื่องการดูแลผู้ป่วยพักฟื้น โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จ่าย เรียกว่า On Top DRG ที่ผ่านมาโรงพยาบาลแต่ละระดับจะได้รับเงินส่วนนี้แตกต่างกัน แต่จากนี้ไปจะต้องได้รับเท่าเทียมกันทั้งหมด เช่น โรงพยาบาลระดับจังหวัดได้รับเงินส่วนนี้ในการดูแลผู้ป่วยพักฟื้นประมาณ 500 บาท หากต้องย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอำเภอก็ต้องได้รับเท่ากัน จากการหารือร่วมกับ สปสช. เบื้องต้นจะมีการมอบอำนาจให้ สปสช.แต่ละเขตพื้นที่ไปดำเนินการพิจารณาตามความเหมาะสม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ ต้องยกให้ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มองว่า ประเทศไทยควรดำเนินการเรื่องเขตบริการสุขภาพนานแล้ว เนื่องจากหลายประเทศมีการทำมาก่อน อย่างไต้หวัน ก็ประสบความสำเร็จดี อีกทั้งการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพถือเป็นกระจายอำนาจให้ระดับเขต ทั้งในการผลิต การกระจายบุคลากร โดยมีมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตร่วมสนับสนุน เพิ่มจำนวนเตียงและหน่วยบริการให้เพียงพอ รวมทั้งการดูแลประชาชนในเขตของตัวเองอย่างบูรณาการ ไม่ต้องส่งคนไข้ข้ามเขต ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากจะทำให้การทำงานมีความชัดเจน ผ่านคณะกรรมการเขตฯ
ส่วน "ชมรมแพทย์ชนบท" ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพ ที่มีผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธาน เนื่องจากสุดท้าย...อำนาจก็ยังอยู่ที่ สธ.อยู่ดี ไม่ใช่การกระจายอำนาจ อย่างแท้จริง ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เคยให้ความเห็นว่า แทนที่จะตั้งเขตบริการสุขภาพ ควรให้โอกาสโรงพยาบาลพัฒนาตัวเองเป็นองค์การมหาชน มีการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่บริหารจัดการ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาล จะทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.เช่นกัน
แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นเช่นใด ต้องติดตาม...
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2556
- 45 views