โรงพยาบาลมีหน้าที่ให้การรักษาประชาชน โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นใคร มีบัตรอะไร? มีสิทธิหรือไม่? ปี 2544 รัฐบาลเริ่มให้สิทธิกับผู้มีบัตรประชาชนให้ได้รับสวัสดิการ แต่ชาวบ้านในพื้นที่แถบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่มีอยู่ประมาณ 85,000 คน แต่มีบัตรประชาชน 30,000 คน ส่วนที่เหลือประมาณ 50,000 คน ไม่มีบัตร นั่นหมายความว่า เขาก็ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการ

คนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ "คนจน" คนที่ไม่สามารถช่วย    เหลือตัวเองได้ ก็ไม่มีเงินเข้ารับการรักษา เพราะค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง รัฐบาลก็ไม่รับผิดชอบ ส่วนมากรัฐ บาลจะให้เงินงบประมาณไปทางภาคอีสาน แต่เงินก็ไปกองอยู่เฉยๆ เพราะคนอีสานส่วนใหญ่ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มีแต่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ได้มาใช้บริการจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับทางชายแดนภาคตะวันตก

โดยเฉพาะ 5 อำเภอจังหวัดตาก ก็จะมีปัญหาว่าคนที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลขที่บัตร และเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณกว่า 270,000 คน อย่างในแม่สอดนั้น มีโรงงาน 350 โรง มีคนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกว่า 30,000 คนเอง หรือประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด คนในศูนย์อพยพอีกกว่า 90,000 คน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

สิ่งที่เราต้องยึดคือ คนเราต้องนับถือความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะเขาเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกแบบเดียวกับเรา ยิ่งคนจนก็จะมีปัญหามากกว่า เนื่องจากปัญหาความด้อยโอกาสหลายอย่างของเขา ด้วยความที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข พวกเราจึงต้องเอื้อมมือให้ถึงพวกเขา

ณ ตอนนี้ ผมเอื้อมมือไปในพม่า ได้มองข้ามในเรื่องของการมีบัตรประชาชนหรือไม่อย่างไรออกไปแล้ว แต่ผมมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน เอื้อมมือไปถึงไหนได้ก็ไป และช่วยเหลือทั้งหมด ถือว่าเป็นประชากรในความดูแลของโรงพยาบาล เพราะผมเป็นหมอ!

เคยมีน้องนักศึกษาแพทย์ ปี 3 ถามผมว่า "พี่รักษาแบบนี้เขาไม่มากันหมดพม่าเลยหรอ" ผมตอบกลับว่า "ถ้าเขามาได้กันทั้งหมด ผมก็ต้องรักษาให้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร" อย่าว่าแต่รักษาและช่วยเหลือคนอย่างเดียวเลย แม้แต่สัตว์ก็ต้องทำ เช่น การทำคลอดหมา ทำคลอดวัว ลูกช้าง บางทีไม่มีนมกินก็ต้องมาขอที่โรงพยาบาล เพราะฉะนั้นผมว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องมนุษยธรรมมากกว่าอย่างอื่น เป็นจรรยาบรรณและวิชาชีพการแพทย์สาธารณสุข ที่เราต้องช่วยเหลือไม่ว่าเขาเป็นเชื้อชาติไหน หรือแม้แต่เป็นศัตรูของเราเอง

อันนี้เป็นข้อแรกที่ผมตอบน้องนักศึกษาเรื่องของจรรยาบรรณ ข้อสอง ลองคิดดู ในพื้นที่กันดาร ชาวบ้านเป็นมาลาเรียกันมาก หรือในปี 2539 ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีผู้ลี้ภัยเป็นโรคอหิวาตกโรค ถ้าเราไม่รักษาโรคก็จะแพร่กระจายได้ง่าย และโรคที่อันตรายที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ โรคคอตีบ ซึ่งก็ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน มีคนที่ไม่มีสถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่เข้าไม่ถึงสาธารณสุข บางคนอาจสร้างบ้านอยู่ข้างโรงพยาบาล แต่ก็ไม่กล้าเข้ามารับการรักษา กลัวเสียเงิน กลัวตำรวจ ซึ่งถ้าพวกเขาเข้าถึงบริการก็แค่ฉีดวัคซีน 15 บาทเอง และถ้าเราไม่ทำตั้งแต่ตอนต้น โรคอาจแพร่กระจายและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม

อีกอย่างผมว่าประเทศไทยเอาเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเยอะ ยกตัวอย่าง "เรามีเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเพื่อนคนนั้นเอาแต่ผลประโยชน์จากเรา ทั้งเงิน แรงงาน ทรัพยากร แต่ไม่เคยให้อะไรกับคืนเรากลับมาเลย" ถามว่า "เพื่อนจะคบเราได้นานไหม?" ประเทศลาว พม่า กัมพูชา เขาก็คิดแบบนี้เหมือนกัน กับประเทศไทยเอาผลประโยชน์อย่างเดียว ก๊าซก็ซื้อราคาถูก แรงงานก็ราคาต่ำ ถามว่าถ้าตอนนี้เราไม่มีแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เลยจะทำยังไงกัน ใครจะทำงานก่อสร้าง งานประมงที่เลอะเทอะสกปรกทั้งหลายได้ ไม่มีแล้ว

ขนาดที่โรงพยาบาลนี้ยังต้องจ้างต่างด้าว 2-3 คนมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำความสะอาดโรงพยาบาล เพราะไม่มีคนไทยทำแล้ว คนงานก่อสร้างก็เป็นคนกะเหรี่ยง พม่าหมดเลย มีบัตรบ้าง ไม่มีบ้าง ผมไม่เอาเปรียบใครนะ โรงพยาบาลจ่ายค่าจ้างตามอัตราแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 ตามที่ควรจะได้ ถ้าเขามีฝีมือก็ให้มากกว่า 300 ด้วยซ้ำ เพราะไม่อยากเอาเปรียบใคร ไม่อยากเบียดเบียนใครในสังคมนี้ นี่แหละคือหลักที่ผมใช้บริหารองค์กร ผมคิดแบบนี้ เราเอาผลประโยชน์จากเขา แต่ไม่มีน้ำใจอะไรตอบแทนคืนให้ ทั้งทางการศึกษา สาธารณสุข มันเป็นสิ่งที่ดีนะ เราควรจะมีน้ำใจในการให้

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้รู้จัก อ.แหว๋ว (อ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) ท่านมีวิสัยทัศน์และอยากจะขยายงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของคนในพื้นที่ มีระบบวิทยุและโทรศัพท์ดาวเทียมสื่อสาร และได้ให้รถอีต๊อกไว้ใช้ในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ทำเองใช้เพื่อลดต้นทุน แทนที่จะซื้อน้ำมันลิตรละ 50-60 บาท ใช้กับเครื่องปั่นไฟเวลาไปออกหน่วยเคลื่อนที่ ลดต้นทุนเหลือประมาณ 10 กว่าบาท มันสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการ ปัญหาสาธารณสุข

เราก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ อ.แหว๋ว ทำให้ได้รู้ทักษะทางกฎหมาย เลยคิดว่าโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยราชการหน่วยงานหนึ่งของอำเภอน่าจะต้องเป็นหลัก ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ได้ด้อยโอกาสทางสาธารณสุขอย่างเดียว เขาด้อยโอกาสด้านเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายตามที่เขาพึงมีพึงได้ และหลายอย่างที่เขาเข้าไม่ถึง เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง พอผมได้เข้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผมรู้สึกดีใจมาก เพราะมันสามารถแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้หลายๆ เรื่อง

คนที่ทำอะไรดีๆ ในสังคม สักวันจะได้มาเจอกัน ลองเดินทางเข้าไปที่พื้นที่แนวตะเข็บชายแดนดูจะรู้ว่ามันยากลำบากอย่างไร พวกเราพอที่จะช่วยเขาให้อยู่รอดได้เราก็ต้องช่วย

ผู้เขียน : นายแพทย์ วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง อ. อุ้มผาง จ. ตาก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556