Hfocus-แม้เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพทำงานในโรงพยาบาล แต่ถือเป็นกำลังสำคัญในงานด้านการบริการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานธุรการ ผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้ป่วย พนักงานเข็นเปล พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน ช่างไฟ คนสวน และคนขับรถ เป็นต้น การเปิดบริการของโรงพยาบาลอาจต้องสะดุดลง ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วย แต่ด้วยลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลถูกจัดเป็นเพียงแค่พนักงานระดับล่าง ไม่เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ยังได้รับการดูแลทั้งในด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่น้อยมาก
ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่กระทรวงสาธารณสุขมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อดูแลบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการมีการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ควรครอบคลุม ไปยังกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพทำงานในโรงพยาบาล คาดว่ามีอยู่ประมาณกว่าหนึ่งแสนคน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับให้บรรจุเป็น “พนักงานกระทรวงสาธารณสุข” (พกส.) ทั้งหมด แต่ล่าสุดอยู่ระหว่างการชะลอการบรรจุ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสำรวจอัตรากำลังใหม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามการเรียกร้องของลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพ เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ “สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย” และ “ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งได้มีการรวมตัวเพื่อเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ
นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวมตัวของลูกจ้างชั่วคราว มาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้มีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ให้เป็นพนักงานราชการ รวมถึงในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยลูกจ้างชั่วคราวในส่วนจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ยื่นหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 เพื่อขอให้ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในโรงพยาบาลได้รับการบรรจุด้วย หลังจากมีข่าวว่าทางจังหวัดนครราชสีมามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หลายจังหวัดจึงมีการเคลื่อนไหวและพูดคุยกัน จึงเกิดการรวมตัวกันเป็น “สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย” (สสลท.) และต่อมาจึงได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กพร. โดยมีตัวแทน 4 ภาคเข้าร่วมให้ข้อมูล
นางกนกพร กล่าวว่า จากการเรียกร้องในขณะนั้น ทำให้ ครม.อนุมัติเพิ่มตำแหน่งบรรจุ 30,000 ตำแหน่งในปี 2548 แต่กระทรวงสาธารณสุขได้นำนักเรียนทุนพยาบาลบวกเข้าไปในการขอตำแหน่งบรรจุ เพิ่มด้วย รวม 80,000 ตำแหน่ง จึงทำให้ตำแหน่งบรรจุที่ได้รับอนุมัติ 30,000 ตำแหน่งมาไม่ถึงกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพ
"เราไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ผู้บริหารกระทรวงฯ บอกว่าคนในกระทรวงมีเยอะมาก ตำแหน่งจำกัด ต้องเลือกบรรจุให้กับลูกจ้างในส่วนสายวิชาชีพก่อน ตำแหน่งบรรจุจึงไม่ถึงลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพอย่างพวกเรา ซึ่งการเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งนายกทักษิณ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสมัยนั้นต่างรับปาก แต่มาถึงวันนี้ร่วม 10 ปีแล้วยังไม่เคยมีการบรรจุพวกเราเลย ทั้งที่หลายๆ คนทำงานในโรงพยาบาลมาสิบๆ ปีแล้ว" นางกนกพร กล่าวและว่า ทุกรัฐบาล ทุกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราไปยื่นหนังสือเพื่อขอความเมตตาหมด แต่กลับไม่มีใครสนใจ
นางกนกพร กล่าวว่า แม้แต่ค่าตอบแทนมีการขยับเพิ่มน้อยมาก จาก 4,100 บาท เป็น 5,000 บาท และ 6,000 บาทในปัจจุบัน ทั้งยังขาดความมั่นคง สภาพเป็นเหมือนลูกจ้างรายวันทั้งที่บางคนทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่มีแม้แต่วันลาหยุด ได้เพียงแค่ลาป่วยเท่านั้น ไม่มีสวัสดิการ เป็นเหมือนบุคคลชั้น 3 ในระบบ ถูกมองเป็นเพียงแค่แรงงานไร้ฝีมือ ไร้คุณภาพ ยอมรับว่าเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดที่ต้องก้มหน้ารับไป ทั้งนี้การเรียกร้องไม่ได้ต้องการอะไรที่เทียบเท่ากับส่วนอื่นๆ เพราะต่างรู้ตัวดี เพียงแต่อยากให้ผู้บริหารมองเห็นกันและให้ความสำคัญกันบ้าง เพราะงานที่ทำแม้ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เมื่อดูภาระงานที่ทำก็หนักไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจุบัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุธ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสนใจดูแลลูกจ้างชั่วคราวนอกวิชาชีพสาธารณสุข โดยเตรียมบรรจุเป็น พกส. มีสวัสดิการ และเพิ่มค่าตอบแทนด้วยการคิดตามภาระงานตามค่าตอบแทนฉบับที่ 8 จากเดิมที่ไม่เคยได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามการบรรจุ พกส. พร้อมดูในส่วนของสวัสดิการที่ควรได้เพิ่มเติม ทั้งเงินค่าเวรดึกและค่าเสี่ยงภัยกรณีอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ควรให้ในเรื่องความก้าวหน้าด้วย อย่างพนักงานผู้ช่วยพยาบาล ควรให้โอกาสคนที่ทำงานมีประสบการณ์ในการเรียนต่อเพื่อเป็นพยาบาลด้วยการเปิด หลักสูตรพิเศษให้ นอกจากเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจคนทำงานแล้ว ยังเป็นการแก้ไปัญหาขาดแคลนพยาบาล
นางกนกพร กล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยฯ นั้น ภายหลังจากที่ได้เคลื่อนไหวในนามสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่ง ประเทศไทย อยากที่จะหันไปทำงานด้านสนับสนุนแทน อย่างการร่างหนังสือเพื่อเรียกร้อง แทนการเป็นแกนนำระดมเพื่อชุมนุมประท้วงที่เป็นงานไม่ถนัด ดังนั้นในปี 2549 จึงแยกออกมาจัดตั้งเป็นภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยฯ เพื่อคอยสนับสนุนสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย ทำงานภายใต้รูปแบบคณะกรรมการ มีตัวแทนลูกจ้างชั่วคราว 45 จังหวัดเข้าร่วม และได้ทำงานจนมาถึงปัจจุบัน
ด้าน นายโอสภ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า แรกเริ่มของการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังกรมบัญชีกลางมีหนังสือให้ปรับขึ่้นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวจาก 4,100 บาท เป็น 4,123 บาท แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีการเพิ่มให้ โดยอ้างว่าต้องเป็นไปตามระเบียบเงินบำรุงที่กำหนดให้จ้างไม่เกิดจากค่าจ้างขั้นต่ำ และให้ขึ้นอยู่กับอำนาจผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปรับเพิ่มค่าจ้าง แม้ว่าจะมีการขอเข้าพบผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้นก็ตาม เป็นเหตุให้มีการพูดคุยกันระหว่างลูกจ้างชั่วคราวแต่ละจังหวัด จนเกิดการรวมตัวและออกมาเรียกร้อง โดยเริ่มที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนลูกจ้างชั่วคราวจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม ทั้ง จังหวัดพัทลุง ชุมพร และลำพูน เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากกระทรวงสาธารณสุข
นายโอสถ กล่าวว่า ต่อมาจึงได้ขอเข้าพบ นางอารมณ์ มีชัย สมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอให้ช่วยเหลือ โดยบอกให้ทราบถึงความเดือนร้อนจากเงินค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ จึงมีการนำเรื่องเข้าสู่วุฒิสภา และเรียกไปให้ข้อมูล ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับรัฐบาลขณะนั้นได้มีมติ ครม.ให้ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมา 5 ปี ให้บรรจุเป็นพนักงานราชการ ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจ แต่ปรากฎว่าพวกเรากลับไม่ได้บรรจุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ว่าจ้างด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาล ถือเป็นเงินนอกงบประมาณ มติ ครม.นี้จึงไม่ครอบคลุมถึง ทำให้พวกเรารู้สึกหัวใจสลาย
นายโอสถ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และได้รับเรื่องไป มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อเสนอต่อ ครม. แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เรื่องเงียบหายไป และไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ต่อ ซึ่งต่อมา นายคณาพันธ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลรัฐใน จ.ราชบุรี จึงได้แขวนคอประท้วง เนื่องมาจากความน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะลูกจ้างชั่วคราวนอก รอการบรรจุมา 17 ปี ไม่ได้รับการบรรจุ เงินเดือนน้อย จึงรู้สึกไม่มีศักศรีความเป็นมนุษย์ และหวังว่าการตายครั้งนี้จะทำให้ผู้บริหารกระทรวงหันมาสนใจบ้าง แต่ปรากฎว่าเป็นการตายเปล่า เราจึงหารือและเตรียมที่จะนำศพแห่ประท้วงรอบ กทม. ทำให้ พล.อ.สนเจตน์ บุญถนอม หัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในขณะนั้นได้เรียกไปพูดคุยร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการขยับค่าจ้างขึ้นบ้าง รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนปีละหนึ่งครั้ง
ทั้งนี้ปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือนอยู่ที่ 6,050 บาท หลังผ่านประเมิน 3 เดือนจะขยับขึ้นไปเป็น 6,902 บาท แต่มีหมายเหตุว่า หากโรงพยาบาลมีปัญหาสภาพคล่อง สามารถจ้างในอัตราต่ำกว่านี้ได้ เท่ากับเป็นการกดค่าแรง ขณะที่อัตราเงินเดือนมากที่สุดจะอยู่ที่ 9,000 บาท แต่ต้องทำงานถึง 30 ปี ถึงจะได้อัตราจ้างนี้
"ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในโรงพยาบาลดูแล้ว มีสถานภาพต่ำกว่าผู้ใช้แรงงานตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด เพราะเราทำงานแบบไม่มีกฎหมายรองรับ แถมค่าจ้างที่ได้รับยังต่ำกว่าเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังไม่มีสวัสดิการใดๆ รวมถึงความมั่นคง มีเพียงแค่ประกันสังคมเท่านั้น อีกทั้งในการทำงานยังถูกมองว่าเป็นบุคคลชั้นต่ำ ทำให้ไม่ได้รับการดูแลจากผู้บริหาร ทั้งๆ ที่เราเป็นด่านหน้าในการรับผู้ป่วย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลผ่านมาตรฐานบริการ" นายโอสถ กล่าวและว่า ทั้งนี้ในส่วนประกันสังคมนั้น เรายังเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์น้อยกว่าแรงงานในภาคอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิ์กองทุนทดแทนหากเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากถือเป็นระหว่างหน่วยงานรัฐต่อรัฐ ทั้งที่พวกเราได้ส่งเบี้ยประกันตน 5% เท่ากับแรงงานอื่นๆ แต่กลับถูกตัดสิทธิ์นี้
นายโอสถ กล่าวต่อว่า ส่วนการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็น พกส.ที่อยู่ระหว่างการรอบรรจุขณะนี้นั้น ถือเป็นการยกสถานะลูกจ้างชั่วคราวในระดับหนึ่ง แต่หากเปรียบเทียบกับเกณฑ์แรงงานของกระทรวงแรงานและสวัสดิการสังคม สิทธ์ต่างๆ ที่รับเพิ่มจากการเป็น พกส.นั้น เป็นเพียงแค่สิทธ์ขั้นพื้นฐานในการจ้างงานที่ควรจะได้รับเท่านั้น ทั้งกรณีการลากิจลาป่วย รวมถึงการทำประกันสังคม นอกจากนี้เรายังอยู่ระหว่างการหารือหลัง ครม.มีมิตปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ที่ได้รับค่าจ้างรายวันหรือรายเดือนในลักษณะจ้างเหมาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพราะมองว่าเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน
โปรดติดตาม เสียงจากลูกจ้างชั่วคราว พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาล ตอนที่ 3
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
กำเนิดลูกจ้างชั่วคราวสธ. พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาล ตอนที่ 1
เสียงจากลูกจ้างชั่วคราว พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาลตอนที่ 3 (จบ)
- 2987 views