ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า แรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่ง ในตลาดแรงงานของไทย โดยเฉพาะงาน บางประเภท เช่น กรรมกร คนงานประมง เด็กปั๊มน้ำมัน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า พนักงานเสิร์ฟ คนรับใช้ ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าแรงงานเหล่านี้ นับวันคนไทยจะทำน้อยลงเรื่อยๆ
จากการเปิดเผยของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว ที่จดทะเบียนและรอรับรองสถานะทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพียง 3.5 แสนคนเท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมแรงงานต่างด้าวนอกระบบที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) และ หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องคาดการณ์กันว่ามีมากกว่าครึ่ง หรือรวมแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 2-3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีสัญชาติลาว กัมพูชา และพม่า
ที่ผ่านมาเรามักกังวลใจว่า การขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจหยุดชะงักได้ หากแรงงานเหล่านี้เดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 อย่างไรก็ตามคนต่างด้าวเหล่านี้ กลับไม่สามารถเข้าถึงสิทธิหรือการคุ้มครองเหมือนลูกจ้างชาวไทย
โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมได้อย่างแท้จริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทยนั่นเอง
ประเด็นนี้ คณะทำงานติดตามประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ได้ออกมาแสดงความห่วงใยถึงเรื่องดังกล่าว มาโดยตลอด โดยเฉพาะในข้อกฎหมายที่จะมีผลต่อ การปรับสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติในอนาคต รวมถึงการเกี่ยวร้อยต่อนโยบายรัฐบาลที่จะนำแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองทำงานแบบถูกกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมในมิติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เร่งหารือกับ กกจ.เพื่อผลักดันให้นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองสถานะ โดยขอให้ กกจ. ออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวหรือให้นายจ้างสามารถนำใบเสร็จค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตทำงานมายื่นขึ้น ทะเบียนประกันสังคมลูกจ้างแรงงานต่างด้าวได้ ภายใต้แนวคิด การปฏิบัติที่มีความเท่าเทียม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีความเหมาะสม และถูกกฎหมาย
หลังจาก สปส. ได้ศึกษาการวางระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว ขณะนี้เราจึงได้เห็นมาตรการเข้มที่เร่งดำเนินการตามนโยบายกระทรวงแรงงาน โดยให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีเอกสารใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับหลักฐานเอกสารครบถ้วน
เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และได้นำส่งเงินสมทบจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งทั้งหมดได้รับสิทธิเท่าเทียมแรงงานไทย และ เป็นมาตรการเข้มที่นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือ เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง จะมีกองทุนเงินทดแทนจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และต้องแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน ส่วนลูกจ้างสามารถแจ้งเรื่องขอรับเงินทดแทนเองได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้วินิจฉัยจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างตามสิทธิที่กำหนดในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537
อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนในกรณีที่คนต่างด้าวเหล่านั้นเป็นลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย หรือกรณีลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล กรณีลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ซึ่งประกอบการค้าเร่ หรือการค้าแผงลอย กรณีเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
สำหรับอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ณ ปัจจุบัน (ปี 2556) ได้ลดอัตราเงินสมทบ จากร้อยละ 5 ของค่าจ้างรายเดือน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 4 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งค่าจ้าง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของ ผู้ประกันตน กำหนดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
มาตรการในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทยทั้ง 7 กรณีแล้ว ยังถือเป็นก้าวสำคัญของระบบประกันสังคมของไทย ที่จะช่วยลดปัญหาทางด้านสังคม สาธารณสุข และความมั่นคงไป พร้อมๆ กัน ที่สำคัญยังจะเป็นการต่อยอดสู่ ข้อตกลงในเรื่องสิทธิประกันสังคมกับกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังจะเปิดฉากในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับนายจ้างหรือผู้ที่ยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือสายด่วนประกันสังคม โทร.1506 (เวลา 07.00-19.00 น. ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 - 23 ต.ค. 2556
- 720 views