กรุงเทพธุรกิจ - นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาจากอาหารมีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคเกินหรือไม่ถูกสัดส่วน และสารเคมีอันตรายปนเปื้อน ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สธ.จะเน้นที่คุณภาพความปลอดภัยอาหาร ควบคู่กับคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยมอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ และประสานกับกทม.ดำเนินการในพื้นที่ให้เป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เน้นให้กินนมแม่ เพราะมีสารอาหารครบถ้วนที่สุด ซึ่งจะต้องดูแลอาหารของหญิงตั้งครรภ์และช่วงระหว่างให้นมบุตร และพัฒนาอาหารศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ เพื่อให้เด็กมีส่วนสูงดีและรูปร่างสมส่วน กลุ่มเด็กวัยเรียน 5-14 ปี เน้นเฝ้าระวังอาหารที่มีผลต่อภาวะอ้วนและความฉลาด ซึ่งเด็กวัยนี้อ้วนมากขึ้น เนื่องจากกินมากเกินไปและกินไม่ถูกสัดส่วน โดยผลสำรวจในปี 2552 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 9.7 และในรอบ 3 เดือนของปี 2556 เด็กอายุ 6-12 ปี มีภาวะอ้วนถึงร้อยละ 8.7

อย่างไรก็ตาม จะให้ทุกจังหวัดดูแลอาหารในโรงเรียนและหน้าโรงเรียนให้จำหน่ายอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย รวมทั้งรณรงค์และให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลอาหาร และนักเรียน ลดการใช้เครื่องปรุงรสเกินความจำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และมะเร็ง เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อที่มากับอาหารที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง พบว่าแนวโน้มดีขึ้น ในปี 2555 ทั่วประเทศป่วย 1,256,649 ราย เสียชีวิต 24 ราย ลดลงกว่าปี 2554 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 1,323,105 ราย เสียชีวิต 55 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาคือวัยแรงงาน โดยในปี 2556 ข้อมูลถึงวันที่ 7 ต.ค. 2556 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 901,797 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดยจะเน้นการปลูกฝังพฤติกรรมกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือแก่ประชาชนทุกวัย เพื่อเสริมความเข้มแข็งป้องกันโรคด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 17 ตุลาคม 2556