Hfocus -การบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยกระฉ่อนชื่อเสียงเกรียงไกรระดับโลก ศักยภาพโรงพยาบาลเอกชนไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ พรีเมี่ยม หรือซูเปอร์พรีเมี่ยม ล้วนแต่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับสากล
นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชัดเจนแล้วว่าให้น้ำหนักกับการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือเมดิคัล ฮับ เนื่องด้วยพิสูจน์แล้วว่าสามารถกวาดเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า เฉพาะปี 2555 ธุรกิจด้านการแพทย์สร้างรายได้ถึง 1.4 แสนล้านบาท
ว่ากันตามจริง ที่ผ่านมา “โรงพยาบาลเอกชน” เหมือนอยู่ในแดนสนธยา การดำเนินงานส่วนใหญ่มักถูกปิดเงียบ รายได้ ผลกำไร ทรัพยากร ขีดความสามารถ ฯลฯ ไม่ได้รับเปิดเผยสู่สาธารณะให้รับทราบ
อย่างไรก็ดี ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ทำการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน ปี 2555 (The 2012 Private Hospital Survey) พบข้อมูลที่น่าตีแผ่หลากหลาย
ในปี 2554 ประเทศไทยมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น 321 แห่ง ส่วนใหญ่ (108 แห่ง หรือ 33.6%) เป็นโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่มีขนาด 51-100 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น 46.3 ล้านราย
ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นผู้ป่วยนอก 44.1 ล้านราย และผู้ป่วยในประมาณ 2.2 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติประมาณ 3 ล้านราย มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 137,598 คน สำหรับด้านการดำเนินการนั้น พบว่ามีมูลค่ารายรับ ค่าใช้จ่ายขั้นกลางและมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้นประมาณ 119,447.5 ล้านบาท 71,881 ล้านบาท และ 47,566.5 ล้านบาทตามลำดับ
โฟกัสในประเด็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ พบว่าที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น 3 ล้านรายนั้น เป็นผู้ป่วยนอกชาวต่างประเทศประมาณ 2.9 ล้านราย เป็นผู้ป่วยในประมาณ 143,200 ราย หากพิจารณาผู้ป่วยชาวต่างประเทศเป็นรายภาค พบว่าผู้ป่วยชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ (ประมาณ 1.9 ล้านราย หรือ 63%) เป็นผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกรุงเทพมหานครมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง 21.2% ภาคใต้และภาคเหนือ 7% และ 5.8% ตามลำดับ
สำหรับประเด็นอัตราการครองเตียงผู้ป่วยและระยะเวลาเข้าพักในโรงพยาบาลเอกชน จากการคำนวณอัตราการครองเตียงโดยใช้จำนวนเตียงสามัญและเตียงพิเศษ พบว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีอัตราการครองเตียง 55.3% โดยภาคใต้มีอัตราผู้ป่วยสูงที่สุดประมาณ 74.7% รองลงมาคือภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง อยู่ที่ 61.6% 54% และ 53.5% ตามลำดับ
ส่วนการเข้าพักในโรงพยาบาลเอกชนของผู้ป่วยในนั้น พบว่ามีการเข้าพักโดยเฉลี่ย 2.9 วัน โดยกรุงเทพมหานครมีการเข้าพักเฉลี่ยสูงที่สุดประมาณ 3.4 วัน
ด้านผลสำรวจรายรับ ค่าใช้จ่ายขั้นกลาง และมูลค่าเพิ่มของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พบว่าในปี 2554 โรงพยาบาลสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ มีรายรับมูลค่ารวมทั้งสิ้น 119,447.5 ล้านบาท มากกว่าครึ่งหรือประมาณ 68,099.5 ล้านบาท เป็นรายรับจากโรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร
โรงพยาบาลทั่วประเทศ มีรายรับเฉลี่ยต่อกิจการประมาณ 372.1 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายภาคพบว่าโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมีรายรับเฉลี่ยต่อกิจการสูงที่สุด คือประมาณ 694.9 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นรายรับที่ได้จากการรักษาพยาบาลถึง 98.6% และเป็นรายรับอื่นๆ 1.4% โดยโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีรายได้ต่อกิจการสูงที่สุดคือ 685.6 ล้านบาทต่อปี นอกเหนือจากนี้โรงพยาบาลเอกชนมีรายได้จากเงินอุดหนุนและเงินบริจาคอีก 2,229.2 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อกิจการ 6.9 ล้านบาทต่อปี
การประกอบกิจการโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนปี 2554 มีค่าใช้จ่ายกลางทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 71,881 ล้านบาท ทำนองเดียวกันกับรายรับ โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมีค่าใช้จ่ายมากที่สุดประมาณ 42,789.8 ล้านบาท หรือ 59.5% ของค่าใช้จ่ายขั้นกลาง
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายขั้นกลางในรอบปีเฉลี่ยต่อกิจการ พบว่าโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายขั้นกลางเฉลี่ยต่อกิจการ 223.9 ล้านบาทต่อปี โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายขั้นกลาง เฉลี่ยต่อกิจการสูงสดประมาณ 436.6 ล้านบาทต่อปี โรงพยาบาลในภาคกลางมีค่าใช้จ่ายขั้นกลางเฉลี่ยต่อกิจการประมาณ 170.9 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยที่สุดเพียง 68.7 ล้านบาทต่อปี
ส่วนมูลค่าเพิ่มนั้น พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 47,566.5 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมีมูลค่าเพิ่มมากที่สุดประมาณ 25,309.7 ล้านบาท ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมูลค่าน้อยที่สุดประมาณ 2,345.6 ล้านบาท
เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มในรอบปีเฉลี่ยต่อกิจการ พบว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศมีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อกิจการ 148.2 ล้านบาทต่อปี โดยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อกิจการสูงสุดประมาณ 258.3 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อกิจการน้อยที่สุด ประมาณ 58.6 ล้านบาท
ผลการสำรวจสรุปความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยประมาณโรงพยาบาล 69.8% ไม่ต้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ ที่เหลืออีกประมาณ 30.2% รายงานว่าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในจำนวนนี้ 33% ต้องการให้แก้กฎหมายกฎระเบียบเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 20.6% ต้องการให้เบิกจ่ายเงินจากภาครัฐเร็วขึ้น 17.5% ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มหรือพัฒนาบุคลากรสายอาชีพ แพทย์ พำยาบาล เภสัชกร ในขณะที่ 12.4% ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งผู้ป่วย และมาตรการลดหย่อนภาษี
- 75 views