เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมโคเอ็ก กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเข้าร่วมประชุมนโยบายแอลกอฮอล์โลก ครั้งที่ 2 (Global Policy Conference 2013)จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม ถึงเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่คาดว่าจะมีการนำสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่การเจรจาว่า มีการระบุว่าในการเจรจาครั้งนี้ สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกพันเข้ากับสินค้าเกษตร หากไทยตัดเรื่องนี้ออกจากการเจรจาหรือไม่เปิดเจรจา ก็จะไม่มีการเจรจาเรื่องสินค้าพืชผลทางการเกษตรด้วย หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าเป็นสินค้าเสรีตามเอฟทีเอไทย-อียูสำเร็จ กำแพงภาษีของไทยอาจเป็นศูนย์ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากประเทศในอียูราคาถูกลง คนไทยจะเข้าถึงและดื่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
ยังกล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือรัฐต้องไม่นำสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา หากยอมให้มีการเจรจา ต้องมีการยื่นข้อเสนอให้มีข้อตกลงภายในประเทศที่เข้มแข็งในการกำกับดูแลผลจากการเจรจาดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ที่ใจความหลักเป็นการห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงและห้ามสูบในที่สาธารณะ หลังจากที่รัฐบาลยอมให้บุหรี่นอกเข้ามาทำการตลาดในประเทศ
โดยครั้งนั้นมีการต่อรองว่าถ้ามีบุหรี่นอกเข้ามาได้ ต้องมี พ.ร.บ.2 ฉบับนี้ออกมา โดยที่ประเทศที่เป็นคู่เจรจาต้องยอมรับและไม่คัดค้าน"ทพ.สุปรีดากล่าว
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า หากรัฐไม่สามารถปฏิเสธการนำสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่เอฟทีเอ รัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอในการปกป้องผลกระทบที่เกิดจากการค้าเสรี เนื่องจากหากเป็นสินค้าเสรีจะก่อให้เกิดการกระจายสินค้าอย่างกว้างขวาง ราคาถูกและมีการทุ่มโฆษณาเพื่อสร้างตลาด
ดังนั้น มาตรการที่ควรดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ผูกภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปริมาณเข้ากับภาวะเงินเฟ้อ เพื่อใก้เป็นกลไกด้านราคา 2.แยกร้านจำหน่ายออกมาเฉพาะและไม่ให้เด็กเข้า เช่น มีแผนกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้างสรรพสินค้า อย่างน้อยจะเป็นการป้องกันการกระจายของสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่สมเหตุสมผลในการปกป้องเยาวชน และ 3.อนุญาตให้มีการโฆษณาได้เฉพาะจุด เช่น ผับบาร์ที่มีกลุ่มนักดื่มหน้าเก่าอยู่แล้ว จะไม่สามารถไปกระตุ้นการดื่มในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน ทั้งนี้ อาจพิจารณาออกเป็นกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือออกเป็น พ.ร.บ.ลดผลกระทบจากเอฟทีเอ
ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื่องจากขณะนี้การตลาดของสินค้าประเภทนี้มีความทันสมัยมากโดยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมทั้งการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เคเบิลทีวีและการแข่งขันกีฬา ที่พบว่างบประมาณด้านโฆษณาของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อหลักลดลง แต่เพิ่มขึ้นในรูปแบบการโฆษณาเป็นจุดๆ จึงอาจต้องพิจารณาในเรื่องของการห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงเหมือนกับบุหรี่ และ 2.รัฐไม่ควรปล่อยให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-อียูอย่างเด็ดขาด เพราะหากมีการกำหนดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าเสรี จะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูก การส่งเสริมการขาย การผลิต และการทำการตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้บริษัทต่างชาติมีเทคนิคที่มากกว่าบริษัทในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้ที่ดื่มในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 9 ตุลาคม 2556
- 6 views