บ้านเมือง - องค์การอนามัยโลก ระบุ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรค ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 8.4 ล้านคน 95% อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยผู้ให้บริการบนรถ บ.ข.ส. และพนักงานขับรถถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคและแพร่เชื้อ เพราะสัมผัสผู้โดยสารจำนวนมาก และต้องใช้เวลาอยู่บนรถนานแต่การถ่ายเทอากาศในรถมีจำกัด กรมวิทย์ฯ จับมือ บ.ข.ส. ตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือผู้ติดเชื้อแฝง โดยใช้เทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา รู้ผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยให้การควบคุมวัณโรคได้ผลดี เพราะจะช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อและหายจากวัณโรค
นางเบญจวรรณ เพชรสุขศิริ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จับมือกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) จัดโครงการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ให้บริการบนรถโดยสาร บ.ข.ส. ให้แก่ พนักงานขับรถ และพนักงานบริการบนรถ บ.ข.ส.ที่สมัครใจ เพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรค หรือผู้ติดเชื้อวัณโรคซึ่งยังไม่แสดงอาการ (วัณโรคแฝง) เนื่องจากพนักงานขับรถและผู้ให้บริการบนรถ บ.ข.ส.เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคและแพร่เชื้อ เพราะสัมผัสผู้โดยสารจำนวนมาก และต้องใช้เวลาอยู่บนรถนานแต่การถ่ายเทอากาศในรถมีจำกัด
ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือผู้ติดเชื้อวัณโรคซึ่งยังไม่แสดงอาการในครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ใช้เทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด ซึ่งมีความจำเพาะสูงและรู้ผลเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ทำการศึกษาวิจัยและนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทยด้วยระบบคุณภาพสากล ใช้ตรวจการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตรวจวินิจฉัยผู้สงสัยเป็นวัณโรคหรือผู้ป่วยวัณโรคที่เก็บเสมหะตรวจไม่ได้ รวมทั้งผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด เป็นต้น การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมร่วมหยุดยั้งวัณโรค และทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจและมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อใช้บริการ
นางเบญจวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการทดสอบเลือดในโครงการนี้ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,252 ตัวอย่าง พบว่า อัตราการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ขับรถและพนักงานที่ให้บริการบนรถโดยสารสาธารณะ มีผลบวก คือ ติดเชื้อร้อยละ 33.15 ไม่พบการติดเชื้อ ร้อยละ 66.85 พนักงานชายให้ผลบวก ร้อยละ 34.52 พนักงานหญิง ให้ผลบวก ร้อยละ 23.75 เมื่อวิเคราะห์ตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 41-50 ปี ให้ผลบวกมากที่สุด ร้อยละ 34.91 และจะพบในผู้ที่มีอายุงานระหว่าง 6-10 ปี มากที่สุด
"ทั้งนี้ผู้ที่ตรวจพบการติดเชื้อหรือผู้ป่วยวัณโรค จะมีการส่งไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละราย และจะมีการออกใบรับรองผลการตรวจให้สำหรับโชเฟอร์และพนักงานที่มีสุขภาพดีปลอดจากวัณโรค การวินิจฉัยวัณโรคด้วยเทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมานี้ ช่วยให้ผลที่ได้มีความถูกต้องรวดเร็ว ช่วยให้การควบคุมวัณโรคได้ผลดี เพราะจะช่วยให้การรักษาวัณโรคด้วยยาที่ได้ผลต่อเชื้อมีประสิทธิภาพไม่เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อและหายจากวัณโรค ตัดการแพร่เชื้อไปยังคนปกติ หรือกลุ่มเสี่ยงต่างๆ นอกจากการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ร่วมกับการให้การรักษาที่ได้ผลรวดเร็วแล้ว การสร้างความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อวัณโรค การปฏิบัติตนในที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการตรวจการติดเชื้อระยะแรก และรู้จักสร้างเสริมสุขภาพที่ดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ก็จะช่วยให้การควบคุมป้องกันการแพร่ติดต่อเชื้อวัณโรคได้ผลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วย" นางเบญจวรรณ กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 5 ตุลาคม 2556
- 52 views