โพสต์ทูเดย์ -แพทย์ชนบทระบุ สธ.เตรียมแก้หลักเกณฑ์ใหม่ จากตามค่าหัวลงหน่วยบริการ ให้ผ่านกระทรวงฯก่อน รองปลัดฯอ้างประสิทธิภาพหารือสปสช.แล้ว
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และแกนนำชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมนำงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ที่อยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปบริหารจัดการเอง
ทั้งนี้ ทราบว่า การประชุมผู้บริหาร สธ.ในวันที่ 2-3 ต.ค.นี้ สธ.จะนำข้อเสนอจากผู้บริหารโรงพยาบาลจังหวัดในเครือข่ายที่ไม่เห็นด้วย ไปกดดันในการประชุมคณะกรรมการ สปสช. วันที่ 7 ต.ค. ให้ยอมรับการเปลี่ยนรูปแบบจัดสรรเงิน รวมถึงจะนำผู้บริหารโรงพยาบาลจังหวัดไปสร้างความปั่นป่วนในเวทีชี้แจงของ สปสช. ต่อผู้บริหารหน่วยบริการทั่วประเทศในวันที่ 7-8 ต.ค. ให้เห็นว่า สธ.ไม่ยอมรับหลักเกณฑ์เดิมของ สปสช.
นพ.สุภัทร กล่าวว่า สธ.เตรียมแก้ระเบียบ ได้แก่ 1.เปลี่ยนการจัดงบประมาณสำหรับจัดการผู้ป่วยนอก จากเดิมที่ สปสช.จัดการ 100% เป็นสัดส่วน สปสช. 80%และตามผลบริการ 20% 2.เปลี่ยนการจัดการงบประมาณสำหรับผู้ป่วยใน โดยนำระบบราคาต่อหน่วย มาใช้แทนระบบราคาเหมาตามกลุ่มโรคร้ายแรง 3.งบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สธ.จะบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยโอนไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโดยตรง 4.งบลงทุน จะขอเพิ่มสัดส่วนด้วยการไม่ยอมรับมติคณะทำงานที่เสนอให้นำเครือข่ายสถานบริการ ประกอบด้วยโรงพยาบาลอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัย 80% และอยู่ที่จังหวัดหรือ สธ. 20% จะปรับมาเป็นที่ สธ.80% และลงเครือข่ายบริการ 20% แทน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวอีกว่า การจัดการรูปแบบนี้ จะเป็นการขยายอำนาจให้ สธ.บริหารงบประมาณเอง ย้อนหลังกลับไปก่อนที่จะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง นอกจากนี้ จะทำให้งบประมาณที่ลงไปยังโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งเป็นสายตรงของ สธ.มากขึ้น และลงไปยังโรงพยาบาลชุมชนน้อยลง รวมถึงปรับสัดส่วนการจัดการงบลงทุน โดยอาจทำให้โรงพยาบาลที่ต่อต้านนโยบาย สธ.ถูกตัดงบประมาณ ส่วนโรงพยาบาลที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตรวจราชการ หรือกลุ่มการเมืองได้งบประมาณมากขึ้น
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ผู้บริหาร สธ.ไม่ได้ทำตามหลักการที่ตกลงกับชมรมคนรักหลักประกันสุขภาพในการเจรจาเมื่อวันที่20 มิ.ย. ที่จะไม่โอนอำนาจการจัดสรรงบประมาณลงไปที่เขตบริการสุขภาพด้วยตัวเอง
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.ไม่ได้มีแนวคิดรวบอำนาจเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกต และแนวคิดการเปลี่ยนสัดส่วนงบประมาณนั้นมีคณะทำงานที่ศึกษารายละเอียด โดยหารือกับทาง สปสช.มาโดยตลอด ซึ่งจะเน้นการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินให้ดียิ่งขึ้นเป็นหลัก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ สปสช.ก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 ตุลาคม 2556
- 3 views