Hfocus -ในการประชุมชี้แจงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ชี้แจง โดยมีการเชิญตัวแทนลูกจ้างชั่วคราว และส่วนราชการต่างๆในสังกัดเข้าร่วม นั้น ที่ประชุมได้มีการแจกเอกสาร ถาม-ตอบ เกี่ยวกับพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) สำนักข่าว Hfocus เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมาเสนอดังนี้

 

ถาม-ตอบ

หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ.0201.034/ว 815

ลงวันที่ 23 กันยายน 2556

 

1.ถาม     ระยะเวลาชะลอการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขถึงเมื่อใด

ตอบ        ชะลอไว้จนกว่ากรอบอัตรากำลังคนในภาพรวมจะแล้วเสร็จ(คาดว่าภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2556)

2.ถาม     การจัดลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง(รายเดือน) เข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณา

ตอบ        การจัดลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง(รายเดือน) เข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุขให้พิจารณาจาก

1.กรอบอัตรากำลังคน

2.กรอบวงเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวในภาพรวมของหน่วยบริการ หรือสามารถบริหารจัดการวงเงินในภาพเครือข่ายบริการระดับเขตได้ โดยพิจารณาจากยอดค่าใช้จ่านที่เป็นค่าจ้าง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 (วันที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้หน่วยบริการทุกแห่ง ระงับการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวทุกตำแหน่ง)

3.ถาม     ลูกจ้างชั่วคราวที่ประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุขไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด (คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 70) จะขอประเมินใหม่ได้หรือไม่

ตอบ        หน่วยบริการไม่สามารถดำเนินการประเมินใหม่ได้อีก เนื่องจากตกเกณฑ์ไปแล้ว

4.ถาม     ลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่แสดงเจตนาเข้ารับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และขณะนี้ประสค์จะแสดงเจตนา ส่วนราชการต้นสังกัดต้องดำเนินการประเมินให้เสร็จสิ้นเมื่อใด

ตอบ        ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2556

5.ถาม     ลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านการประเมอนแต่มีคุณวุฒิไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งส่วนราชการสามารถจ้างไว้ในตำแหน่งเดิมโดยมีสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่

ตอบ        ไม่ได้ แต่หากส่วนราชการประสงค์จะจ้างไว้ต้องจ้างในตำแหน่งที่คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งกำหนดคุณวุฒิดังกล่าวไว้ เช่น เดิมจ้างไว้ในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ โดยใช้วุฒิ ปวช.ช่างยนต์ (คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งกำหนดวุฒิ ปวช. พณิชยการ) เมื่อปรับเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องปรับตำแหน่งเป็นพนักงานธุรการ โดยใช้ประสบการณ์ที่มีลักษณะงานเป็น งานธุรการ/งานสารบรรณ มาใช้แทนคุณวุฒิ โดยบุคคลผู้นี้ต้องผ่านการจ้างงานมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี (ตาม Spec. ของลูกจ้างประจำ กำหนดใช้ประสบการณ์หรือคุณวุฒิก็ได้) แต่ถ้าระยะเวลาการจ้างไม่ถึง 5 ปี ต้องปรับตำแหน่งเป็นพนักงานบริการเอกสารทั่วไป เนื่องจาก Spec. ของตำแหน่งนี้ไม่ได้กำหนดเรื่องของคุณวุฒติหรือประสบการณ์ไว้

6.ถาม     การกำหนดค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 กำหนดให้ได้รับค่าจ้างไม่เกินขั้นต่ำของบัญชีค่าจ้างตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกำลังคนระดับจังหวัด หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นของ สสจ. รพศ. รพท. เป็นผู้กำหนดและเสนอเครือข่ายบริการระดับเขตให้ความเห็นชอบ หมายความว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด สามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมใช่หรือไม่

ตอบ        ใช่ แต่อย่างไรก็ดี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการกำลังคนจังหวัดกำหนดนี้ ต้องไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำตามบัญชีแนบท้าย ของหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0201.034/ ว 815 ลงวันที่ 23 กันยายน 2556

7.ถาม     หน่วยบริการลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง หลังวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน สามารถนำค่าจ้างของลูกจ้างดังกล่าว มาเป็นยอดวงเงินร้อยละ 10 ได้หรือไม่

ตอบ        สป.ได้มีหนังสือ ที่ สธ 0201.034/497 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 แจ้งให้ส่วนราชการในสังกัดระงับการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง และเงินรายได้สถานศึกษาทุกตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้

1.จ้างทดแทนตำแหน่งเดิม เนื่องจากลูกจ้างรายเดิมได้พ้นจากราชการด้วยเหตุต่างๆ เช่น ลาออก ตาย ให้ออกเพราะถูกลงโทษทางวินัย โดยหน่วยบริการมีภารกิจและจำเป็นต้องจ้างทดแทน และมีเงินเพียงพอในการจ้าง

2.จ้างสายงานวิชาชีพขาดแคลน เช่น ตำแหน่งนายแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เป็นต้น

3.จ้างเพื่อปฏิบัติงานในหน่วยบริการเปิดใหม่ และไม่สามารถปรับเกลี่ยอัตรากำลังคนจากหน่วยบริการอื่นมาได้

ทั้งนี้การจ้างงานทั้ง 3 กรณีข้างต้น หน่วยบริการต้องเสนอเรื่องขออนุมัติจ้างต่อคณะกรรมการบริหารกำลังคนระดับจังหวัด หรือเรียกชื่ออย่างอื่น

                ดังนั้น หน่วยบริการที่จะนำยอดเงินค่าจ้างของผู้ได้รับการจ้างหลังวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มานับรวมเป็นวงเงินร้อยละ 10 จึงต้องเป็นการจ้างด้วยกรณีข้างต้นเท่านั้น โดย สสจ./รพศ./รพท. รวบรวมหลักฐานการจ้างงาน ได้แก่ คำสั่งลาออก ใบมรณบัตร คำสั่งถูกลงโทษทางวินัย (กรณีจ้างทดแทน) พร้อมคำสั่งจ้างคนใหม่ รวมถึงคำสั่งจ้างสายงานวิชาชีพขาดแคลน และหน่วยบริการที่เปิดใหม่ ไปให้ สป. ภายในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 เพื่อตรวจสอบในการคิดคำนวณยอดวงเงินร้อยละ 10 ของส่วนราชการ และในภาพเครือข่ายบริการระดับเขต

                สำหรับการจ้างงานนอกเหนือจากกรณีที่ สป. กำหนด หน่วยบริการต้องไปพิจารณาจ้างงานตามลักษณะอื่น หรือด้วยเงินประเภทอื่น

8.ถาม     การประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราว เพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการจ้างงานต่อ หรือปรับเพิ่มค่าจ้างประจำปีนั้น ขณะนี้ยังคงต้องดำเนินการหรือไม่

ตอบ        หน่วยบริการทุกแห่งยังคงต้องดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราวทุกคน และมุกตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ที่ สป.กำหนด ทั้งกรณีที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านเกณฑ์ประเมินหรือไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศฯ หรือผู้ไม่แสดงเจตนาเข้ารับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี หน่วยบริการต้องจัดทำคำสั่งจ้างโดยให้ได้รับค่าจ้างอัตราเดิมไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2556

9.ถาม     เพราะเหตุใดหน่วยบริการต้องทำคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงในอัตราค่าจ้างเดิมเพียง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.56)

ตอบ        เหตุผลเพราะ

                1.คำสั่งลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงของทุกราย ณ ขณะนี้ผลการจ้างจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2556 หากหน่วยบริการไม่ออกคำสั่งจ้าง ทางงานการเงินจะไม่มีหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างในเดือนถัดไป

                2.สำหรับการกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้างเดิมไปพลางก่อนนั้น เนื่องจากการจ้างงาน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นไปตามกรอบวงเงินร้อยละ 10 ทั้งการจ้างงานพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง (รายเดือน รายวัน รายคาบ จ้างเหมาบริการ) ซึ่งหน่วยบริการต้องไปคำนวณสัดส่วนประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายเป็นค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและของลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงในทุกลักษณะการจ้างงาน รวมถึงส่วนต่างค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ดำเนินการปรับค่าจ้างประจำปีของลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ด้วย จึงต้องรอให้การคิดคำนวณมีความครอบคลุม ถูกต้องครบถ้วนกับการจ้างงานทุกประเภท

10.ถาม   ลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ผ่านการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการต้องดำเนินการอย่างใด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556

ตอบ        หน่วยบริการสามารถพิจารณาได้หลายกรณี เนื่องจากการจ้างงานจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2556 ดังนั้น อาจเลิกจ้าง หรือจ้างตามลักษณะอื่น เช่น รายวัน รายคาย จ้างเหมาบริการ หรือจ้างเป็นรายเดือนต่อไป เป็นต้น โดยหน่วยบริการต้องคำนึงถึงยอดวงเงินที่ใช้ในการจ้างในภาพรวมต้องไม่เกินร้อยละ 10 ด้วย

11.ถาม   ความหมายของกรอบวงเงินร้อยละ 10 คืออะไร

ตอบ        กรอบวงเงินร้อยละ 10 หมายถึง ยอดวงเงินร้อยละ 30 โดยคำนวณจากยอดค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้กับลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงที่จ้างไว้ในทุกลักษณะงาน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

ตัวอย่างเช่น

·โรงพยาบาลชุมชน ก. มียอดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้กับลูกจ้างชั่วคราวเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินบำรุง ในทุกลักษณะงาน เช่น รายเดือน รายวัน รายคาบ จ้างเหมาบริการ เป็นต้น ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งสิน 200,000 บาท ดังนั้น กรอบวงเงินร้อยละ 10 จากยอดเงิน 200,000 บาท จะเท่ากับ 20,000 บาท

·โรงพยาบาลชุมชน ก. จะมีกรอบวงเงินที่ต้องมาคิดคำนวณในการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง ทุกลักษณะงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิน 220,000 บาท เป็นต้น

12.ถาม   ขอทราบว่าในระหว่างที่รอการจัดจ้างเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้ ลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง ขอใช้สิทธิลาพักร้อน หรือลากิจส่วนตัว จะได้หรือไม่

ตอบ        เนื่องจากขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งให้ทุกส่วนราชการชะลอการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับให้หน่วยบริการจัดทำคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงไปพลางก่อน มีระยะเวลา 3 เดือนนั้น หากระหว่างนี้ลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงรายเดือนผู้ใด ประสงค์ขอลาพักผ่อนหรือลากิจส่วนตัว ก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ เช่น ลูกจ้างชั่วคราวที่ขอลาพักผ่อน ต้องเป็นลูกจ้างที่หน่วยบริการจ้างงานมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิลาพักผ่อนปีละ ไม่เกิน 10 วันทำการ โดยได้รับค่าจ้างระหว่างลา ต่อมาลูกจ้างชั่วคราวรายนี้ได้รับการจ้างเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 จะขอใช้สิทธิลาพักผ่อนในปีงบประมาณนี้อีกไม่ได้ เนื่องจากได้ใช้วันลาพักผ่อนไปก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับลูกจ้างชั่วคราวที่ขอลากิจส่วนตัวในขณะนี้ สามารถใช้สิทธิประเภทการลาดังกล่าวได้ โดยไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างลา (เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างชั่วคราว พ.ศ.2555)

13.ถาม   ขอทราบว่า สป.มีการกำหนดแผนจัดลูกจ้างเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร

ตอบ        สป. มีการกำหนดแผน ดังต่อไปนี้

 

ที่

กิจกรรม

ระยะเวลาดำเนินการ

ผู้รับผิดชอบ

1

ประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการจัดลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข

-ส่วนราชการต่างๆ ในสังกัด

-ผู้แทนลูกจ้างชั่วคราว

30 ก.ย.56

กลุ่มบริหารงานบุคคล

2

หน่วยงานแก้ไขข้อมูลและปรับปรุงสถานะลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงในระบบข้อมูลลูกจ้างชั่วคราว ณ 1 พ.ค.56

ก.ย.56-6 ต.ค.56

สสจ./รพศ./รพท./วพบ.วสส.

3

หน่วยงานส่งคำสั่งจ้างเฉพาะกรณีที่มีการจ้างงานตามหนังสือ สป. ที่ สธ 0201.034/ว 497 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 (3 กรณีที่เกิดช่องให้ดำเนินการ) ให้ สป.เพื่อคิดกรอบวงเงิน

6-11 ต.ค.56

สสจ./รพศ./รพท./วพบ.วสส.

4

สรุปยอดวงเงินร้อยละ 10 ของหน่วยบริการในเครือข่ายบริการระดับเขตต่อผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

20 ต.ค.56

สสจ./รพศ./รพท./วพบ.วสส.

5

เครือข่ายบริการระดับเขต ประชุมชี้แจงเครือข่ายในสังกัด เกี่ยวกับการบริหารจัดการลูกจ้างลงเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข

25 ต.ค.56

เครือข่ายบริการระดับเขต

6

ประชุมคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อนุมัติกรอบอัตรากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข

30 ต.ค.56

กลุ่มบริหารงานบุคคล

7

ส่วนราชการต่างๆ จัดลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง(รายเดือน) เข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเสนอหัวหน้าเครือข่ายบริการระดับเขตให้ความเห็นชอบ พร้อมอนุมัติให้ส่วนราชการจัดทำสัญญาจ้าง และจัดทำคำสั่งปฏิบัติงาน

1-15 พ.ย.56

สสจ./รพศ./รพท./วพบ.วสส.

8

ส่วนราชการแจ้งผลการดำเนินงาน พร้อมบันทึกข้อมูลประวัติพนักงานกระทรวงสาธารณสุขลงในระบบฐานข้อมูล

15-30 พ.ย.56

สสจ./รพศ./รพท./วพบ.วสส.