28 กันยายนเป็น "วันสากลเพื่อรณรงค์เข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย" เพื่อทำความเข้าใจในแก่สาธารณะว่า หากผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัยจะลดอัตราการบาดเจ็บและการเสียชีวิตลงได้จำนวนมาก ทั้งนี้ พบว่าในทุกปีทั่วโลกยังมีผู้หญิงถึง 21.6 ล้านรายทำแท้งไม่ปลอดภัยและกว่า 47,000 รายต้องเสียชีวิต วันนี้ผมเลยขอหยิบ รายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยเดือนกันยายน ปี 2554 ที่กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูล มาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะคิดว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและอาจจะพอทำให้เรานึกออกว่าทำไมถึงต้องรณรงค์ให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
รายงานฉบับนี้เก็บข้อมูลจาก โรงพยาบาล 101 แห่งทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใน 13 จังหวัด พบว่าเดือนกันยายน ปี 2554 เดือนเดียว มีผู้ป่วยจากการยุติการตั้งครรภ์จำนวน 688 ราย เป็นผู้ป่วยที่แท้งเอง 459 รายและเป็นผู้ป่วยจากการทำแท้ง 299 ราย ในที่นี้ผมขออนุญาตหยิบเฉพาะ 299 นี้มาคุยเรื่องจากเป็นกลุ่มที่ท้องไม่พร้อมและเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ครับ
ผู้ป่วยทำแท้งส่วนใหญ่อายุระหว่าง 15-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 28 ของทั้งหมด ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ยัง ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุผลในการตัดสินใจทำแท้งว่าเพราะปัญหาด้านการเงินและยังเรียนไม่จบ ส่วนวิธีการทำแท้งด้วยตัวเองที่นิยมใช้มากที่สุดคือการใช้ยาเหน็บช่องทางคลอด อย่างไรก็ตาม การทำแท้งด้วยตัวเองส่งผลให้ผู้ทำแท้งร้อยละ 14 ตกเลือดมากจนถึงขั้นต้องให้เลือด ซึ่งเป็นผลกระทบที่พบมากที่สุด น่าคิดนะครับว่าหากมาพบแพทย์ไม่ทัน ร้อยละ 14 ที่ตกเลือดมากนี้ก็อาจเสียชีวิตได้ ทั้งเป็นเรื่องเศร้า เรื่องน่าเสียดายเพราะระบบสาธารณสุขบ้านเราทันสมัยและก้าวหน้ามาก แต่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งกลับจะต้องมาบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะตกเลือดจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ผมเข้าใจว่าสังคมยังมองเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่อง "ผิดบาป" มองผู้หญิงที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ว่าเป็น "แม่ใจยักษ์" หรือถ้าเป็นวัยรุ่นก็เป็น "แม่ใจแตก" แค่สองสามคำนี้ การทำแท้งก็ถูกผูกโยงกับหลายเรื่องแล้ว ทั้งเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ทัศนคติเรื่องหญิง-ชาย เรื่องเพศ และมุมมองต่อวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ท้องไม่พร้อมจะตัดสินใจท้องต่อหรือทำแท้งเพราะเมื่อไม่พร้อมจะท้องต่อก็กระทบต่ออนาคตของตัวเอง แต่จะทำแท้งสังคมก็ตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ความลังเลดังกล่าวทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งเหลือทางเลือกในการจัดการปัญหาน้อยลง เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นทั้งวิธีการและสถานที่จะรับทำก็น้อยลงไปด้วยในขณะที่อันตรายจากการทำแท้งกลับมาขึ้นตามอายุครรภ์
อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกมองมิติด้าน "สุขภาพ" ของผู้หญิงที่ทำแท้งก็จะพบว่า "เรา" ช่วยกันรักษาชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะในเชิงสังคมหรือเชิงกฎหมาย เช่น ในเชิงสังคม ถ้าเราไม่ตีตราผู้หญิงที่ทำแท้งว่าเป็นคนไม่ดี ผู้หญิงก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น ไม่ลังเลอยู่นานจนอายุครรภ์มากกระทั่งยุติการตั้งครรภ์ลำบาก เรื่องนี้คนที่ช่วยได้แน่ๆ คือสื่อมวลชนครับ อยากขอร้องจริงๆ ว่าเลิกพาดหัวเสียทีเถอะครับเรื่องแม่ใจยักษ์ แม่ใจบาป เพราะพาดหัวแบบนี้มาหลายปีแล้วก็ไม่ช่วยให้ปัญหานี้ลดลงได้เลย ส่วนในเชิงกฎหมายผมคิดว่ารัฐต้องเอื้อให้มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และการเข้าถึงบริการของรัฐในกรณีที่ผู้หญิงเลือกที่จะท้องต่อก็ต้องไม่ยุ่งยากครับ เช่น กรณีของบ้านพักฉุกเฉินที่ต้องให้พ่อแม่ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเซ็นยินยอมก่อนที่ผู้หญิงจะเข้าพักได้ก็ต้องยกเลิก เพราะเอาเข้าจริงจะมีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมคนไหนกล้าถือเอกสารไปให้พ่อแม่เซ็นยินยอมให้มาอยู่บ้านพักฉุกเฉินล่ะครับ
ก่อนจากกันฉบับนี้ มีเรื่องเล่าปิดท้าย วันก่อนน้องที่ทำงานเล่าให้ฟังว่าโทรศัพท์ไปขอให้เพื่อนของเธอช่วยหาสถานที่พักฟื้นหลังยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เธอเลือกโทร.หาเพื่อนคนนี้เพราะเห็นว่าเคยทำงานที่สถานพยาบาลที่ช่วยน้องผู้หญิงคนนี้ยุติการตั้งครรภ์ แต่เธอกลับพบว่าเพื่อนของเธอกระอักกระอ่วนใจ รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทำแท้ง ผมฟังแล้วคิดว่าขนาดคนคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้ด้วยนิดหน่อยยังรู้สึกผิดได้มากมายขนาดนี้ แล้วเราจะหวังให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงได้อย่างไร? มันจะมีโอกาสเป็นจริงหรือ?
เรื่องนี้ไม่ง่ายครับ แต่คงไม่ยากเกินไป หากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าเราต้องช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าไม่ให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยอีกแม้แต่รายเดียว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 1 ตุลาคม 2556
- 681 views