นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมควบคุมโรค ครบรอบ 39 ปี ว่าการดำเนินงานของกรมควบคุมโรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลทำให้โรคต่างๆลดลง เช่น โรคโปลิโอ โรคหัด โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ สามารถลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีโรคต่างๆ อาทิ โรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก โรคมือเท้าปาก วัณโรคดื้อยา โรคที่จะกลับมาเป็นปัญหาใหม่ เช่น โรคคอตีบ ไอกรน โรคมาลาเรียดื้อยา รวมทั้งปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น บุหรี่ เหล้า และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อของโรค เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของกรมควบคุมโรคอย่างมาก
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 ไทยจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาค มีการเคลื่อนย้ายประชากร เคลื่อนย้ายสัตว์ พืช อาหาร ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อภัยสุขภาพและเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อมากขึ้นโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดต่อข้ามพรมแดน กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่อต่างๆที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่ามี 10 เรื่องเน้นหนักที่เป็นปัญหาสำคัญที่กรมควบคุมโรคจะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 นี้คือ 1.การกวาดล้างโรคหัดและโรคโปลิโอ โรคที่มักเกิดในเด็กซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีน 2.การควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ โรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารอาหารที่ไม่ปลอดภัยและไม่สะอาด ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็ก เช่นจากการไปทัศนะศึกษาเป็นหมู่คณะมีการเตรียมอาหารไว้ตั้งแต่ตอนเย็นและวันรุ่งขึ้นก็นำมารับประทานซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีการนำไข่ต้มแก้บนมาให้เด็กรับประทานทำให้เกิดอาหารเป็นพิษทั้งโรงเรียน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ดีกับเด็กนักเรียนและเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ
3.วัณโรค ต้องเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง ช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการการรักษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ป้องกันวัณโรคดื้อยารวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันวัณโรคให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน 4.โรคเอดส์ โรคที่ยังเป็นปัญหาขณะนี้ ซึ่งเป้าหมายมี 3 เรื่อง หรือ 3ต. คือ ต.ที่1 ต้องไม่ติดเชื้อ ซึ่งมีการดำเนินงานเรื่องถุงยางอนามัย 100% อยู่แล้ว ต.ที่2 ต้องไม่ตาย ถ้ามีการเจาะเลือดแล้วรู้ผลเร็วว่าติดเชื้อ ต้องมียาสำหรับการรักษา เพื่อลดการสูญเสียและเกิดภาวะแทรกซ้อน และ ต.ที่3 ต้องไม่มีการตีตราว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ ประชาชนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้ารับการรักษา สังคมต้องคิดว่าโรคเอดส์เหมือนโรคเบาหวาน ที่สามารถรักษาและมีชีวิตที่ดีได้
5.การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กคุณภาพปลอดโรค ต้องเข้าไปดูแลเด็กในเรื่องการให้พัฒนาการที่สมวัย ให้ปลอดโรคที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคหัด และโรคท้องร่วง โดยเน้นไปที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเด็กเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครอบคลุม ผู้ใหญ่ควรพาเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงโรคไอกรนและบาดทะยักด้วย 6.การลดพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคแอลกอฮอล์ เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาวัยรุ่นที่สำคัญขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันวัยรุ่นมีการดื่มเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมาคิดกันว่าจะสามารถลดการดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นได้อย่างไร ต้องเข้าไปจัดการในเรื่องควบคุมตามกฎหมาย ซื้อ-ขายตามเวลา พฤติกรรมการเข้าถึงสุราให้ยากมากขึ้น และการควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวด
7.การควบคุมโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยนำหลักพฤติกรรมเรื่อง 3 อ. ได้แก่ เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และควบคุมอารมณ์ และ 2ส. คือ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา นำมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันและภาวะโรคแทรกซ้อนตามมา 8.การลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเข้าไปลดการสูญเสียและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมควบคุมโรคต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ด้วย
9.การขยายประสิทธิภาพการควบคุมเชื้อโรคในโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสถาบันบำราศนราดูรที่เป็นต้นแบบและเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเรื่องนี้มานาน หากเข้ารับการรักษาและมีการติดเชื้อตามมาจะเป็นการสูญเสียในหลายๆเรื่อง รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย และ 10.การเฝ้าระวังป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ทำงานโรงงานอุตสาหกรรม เพราะบางครั้งต้องมีการสัมผัสกับสารเคมี จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ง่าย ดังนั้นต้องมีการจัดระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เข้าไปดูแลและแนะนำ เพื่อให้การป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพและช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
- 10 views