มติชน - ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อย่อ "ซีดีซี" เพิ่งเผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนับว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปควรทำความเข้าใจและให้ความสนใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงรายงานจากการเก็บข้อมูลและสำรวจในสหรัฐอเมริกาเองเท่านั้นก็ตาม เพราะปัญหาที่ว่านี้น่าจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อยหรือใครจะสนใจศึกษาหรือไม่เท่านั้นเอง
รายงานชิ้นนี้สำคัญเนื่องจากเป็นรายงานชิ้นแรกที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ที่ดื้อยาปฏิชีวนะเอาไว้ในที่เดียวกัน และประเมินสถานการณ์ความเลวร้ายเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา แล้วก็น่าจะเป็นชิ้นแรกๆของโลกอีกด้วย
ในส่วนแรกของรายงานดังกล่าวเป็นการประมวล "การล้มป่วย" และ "การเสียชีวิต" ที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่ "ดื้อยา" ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน่าตกใจเลยทีเดียว เพราะซีดีซีสรุปไว้ว่า ในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกามีคนล้มป่วยเพราะการดื้อยาของเชื้อโรคมากถึง 2,049,442 ราย จากจำนวนดังกล่าวนี้มีผู้เสียชีวิตไปมากถึง 23,000 ราย
เพราะการดื้อยาที่ว่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมในการประกันสุขภาพไปปีละ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากถึง 600,000 ล้านบาทโดยประมาณ นอกจากรายจ่ายโดยตรงที่ว่านั้นแล้ว ซีดีซีประเมินไว้ด้วยว่า สังคมต้องสูญเสีย "ผลิตภาพ" ที่ควรมีไป คิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่าหนึ่งล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ถัดจากนั้น ซีดีซีจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของภาวะดื้อยาของเชื้อโรคแต่ละอย่าง โดยอาศัยตัวชี้วัด 7 อย่าง คือ ผลกระทบต่อสุขภาวะ, ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ, ความถี่ในการติดเชื้อ, ความยากง่ายในการระบาด, ภาวะการระบาดในอีก 10 ปีข้างหน้า, จำนวนยาปฏิชีวนะที่เหลืออยู่ซึ่งรักษาเชื้อดังกล่าวได้ผล และมีหนทางอื่นใดในการยับยั้งการระบาดของเชื้อนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
จากข้อบ่งชี้เหล่านั้น ซีดีซีจัดแบ่งกลุ่มเชื้อโรคดื้อยาออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกสุด เป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาแล้วและต้องหาทางรับมือหรือแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วยเชื้อโรค 3 ตัว ตัวแรกคือ "คาร์บาเพเน่ม รีซิสแตนท์ เอนเทโรแบคทีเรียซีเอ" หรือ "ซีอาร์อี" ซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อโรคในห้องไอซียู หรือห้องอภิบาลผู้ป่วยหนัก ที่ตอนนี้พบว่า ดื้อยาปฏิชีวนะแทบทุกชนิดแล้ว ตามสถิติพบ ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ 9,000 คนต่อปีทำให้เสียชีวิตได้ถึงปีละ 600 คน
ตัวที่สองเป็น "โกโนเรีย" (หนองใน) ที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะ ซึ่งตอนนี้ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงตัวเดียวเท่านั้นเอง ทำให้ล้มป่วยได้ถึง 246,000 คนต่อปี แต่ไม่มีสถิติผู้เสียชีวิต
ตัวที่ 3 เป็น "คลอสทริเดียม ดิฟฟิซายล์" ซึ่งเกิดสภาวะดื้อยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มหนึ่งไปแล้ว เชื้อตัวนี้ยังถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับของการดื้อยาว่าถึงเวลาที่ต้องปรับใช้ยาที่แรงกว่าขึ้นไปหรือไม่อีกด้วย ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากเชื้อนี้สูงถึง 250,000 ราย เสียชีวิตสูงถึง 14,000 ราย
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่ม "ร้ายแรง" ซึ่งซีดีซีให้นิยามเอาไว้ว่า "ต้องจัดการรับมือในทันทีและอย่างต่อเนื่อง" มีทั้งหมด 12 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีทีบีหรือเชื้อวัณโรครวมอยู่ด้วย กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่ม "น่าวิตก" ซึ่งควร "เฝ้าระวัง" และ "หาทางป้องกัน"นอกเหนือจากต้องการเผยแพร่สถิติต่างๆ เหล่านี้แล้ว สิ่งที่ ดร.ทอม ฟรีดเดน พยายามจะนำเสนอก็คือ ทำอย่างไรภาวะดื้อยาที่สำคัญยิ่งนี้จะมีการตระหนัก ป้องกันและเฝ้าระวังกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ ทำอย่างไรการเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคเกษตรกรรมและภาคบริการสาธารณสุข ที่มาหลักของการดื้อยาจะดีขึ้นและครบถ้วนมากขึ้น ทำอย่างไรถึงจะบ่งชี้ภาวะดื้อยาได้เร็วและจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาได้ดีขึ้น ทำอย่างไรถึงจะปรับปรุงการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคเกษตรกรรมและบริการสาธารณสุขให้เหมาะสมขึ้น เพื่อลดภาวะการดื้อยาลง
เพราะถ้าไม่ทำอะไร อีกหน่อยเราจะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคที่ดื้อยาที่มีเต็มไปหมดอย่างแน่นอน
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 7 views