หนังสือพิมพ์สยามรัฐ - นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเข้าถึงสิทธิ สร้างโอกาสคนพิการสู่สังคม ที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี ว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในด้านต่างๆ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคในทุกมิติ สนับสนุนผู้ที่มีข้อจำกัด อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสคนพิการ ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มของคนพิการซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดแนวทางเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของคนพิการด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ ร่างกาย ตลอดจนพัฒนาด้านจิตใจและสังคม ซึ่งขณะนี้มีคนพิการขาขาดทั่วประเทศจำนวน 46,000 รายและยังมีคนพิการขาขาดจำนวน 19,310 คน ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการขาเทียม ด้วยข้อจำกัดหลายปัจจัย
รัฐบาลได้มอบหมายให้ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงการคลัง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บูรณาการพัฒนาระบบการให้บริการแก่คนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมทางกระทรวงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กำหนด
ยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานร่วมกัน 2 ระยะคือ ระยะเร่งรัดโดยให้ผู้พิการที่ยังไม่มีขาเทียม ลงทะเบียนผ่านระบบสารสนเทศเพื่อใช้สิทธิได้ง่ายด้วยตนเอง ค้นหาคนพิการในทุกหมู่บ้านทุกชุมชนโดยให้อาสาสมัคร
สาธารณสุขหรือ อสม.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อลงทะเบียนและจัดทำขาเทียมครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี2559 และเพิ่มศักยภาพการผลิตขาเทียมให้ได้มากกว่า 16,000 ชิ้นต่อปี โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และสปสช. จัดงบประมาณเป็นเงินทุนประเดิมกระตุ้นและสนับสนุนให้โรงงานผลิตกายอุปกรณ์ทั่วประเทศ 124 แห่ง ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 103 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ 21 แห่งและให้กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช.เร่งรัดปรับบัญชีกายอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้พิการทั้ง 3 กองทุน มีสิทธิเบิกจ่ายค่ากายอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน
แผนระยะยาว กำหนดไว้ 3 มาตรการ คือ ให้ศูนย์สิรินธรฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มปริมาณการผลิตให้มีคุณสมบัติเบาทนทาน สวยงาม เพื่อลดการนำเข้าและลดต้นทุนการผลิตขาเทียมรวมถึงพัฒนาหาวัสดุที่ผลิตขาเทียมในประเทศเช่นยางพารา เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้นานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและส่งเสริมการแปรรูปยางพาราให้มากขึ้น
นอกจากนี้ให้ศูนย์สิรินธรฯ ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ฝึกอบรมคนพิการขาขาดให้เป็นช่างทำขาเทียม และทำงานในโรงงานกายอุปกรณ์ โดยกระทรวงจะจัดสรรตำแหน่งและสร้างแรงจูงใจอื่นๆ รวมถึงการป้องกันและลดจำนวนคนพิการ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจน โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการทำงานเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้สูเสียขาและรณรงค์ป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุจราจรร่วมกับกระทรวงคมนาคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 24 กันยายน 2556
- 19 views