ตามที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปรอบที่ 2 มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. 2556 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ ภาคประชาสังคมไทยจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของเครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภคและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA watch) ชุมนุมเพื่อแสดงพลังสนับสนุนให้ทีมเจรจาของรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ และต้องไม่ตกลงในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การเรียนรู้เรื่องการค้าเสรีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลดภาษีน้ำเมาต่อสังคมไทย เป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์สำคัญ โดยมีภาคประชาสังคมและเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ มาร่วมคัดค้านข้อเรียกร้องของยุโรปให้ไทยมีมาตรการลดภาษีสินค้าน้ำ เมา ทั้งนี้ได้ชวนคนเชียงใหม่เข้าร่วมเรียนรู้ทำความเข้าใจไปด้วยกันในวันที่ 18-19 กันยายนที่ผ่านมา ที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่
คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ ให้สัมภาษณ์ว่า หากเรายอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปเรื่องการเปิดเหล้าเสรีจากสหภาพยุโรป ลดภาษีเหล้า 60% ก็จะกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอน เพราะยอดการบริโภคสุราจากยุโรปจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 30% และทำให้จำนวนนักดื่มหน้าใหม่พุ่งสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าที่ถูกลง เช่น เหล้านอกเดิมขวดละ 1,000 บาท ลดลงเหลือเพียง 400 บาท หรือไวน์ขวดละ 10,000 บาท ลดเหลือ 4,000 บาท ทำให้คนไทยหันไปซื้อสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ด้วยค่านิยมว่าดื่มเหล้าแบรนด์นอกมีรสนิยม ขณะเดียวกันประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและยาจากพิษภัยน้ำเมาสูงขึ้น
"แม้ยังไม่เปิดเสรี ลดภาษีเหล้าจากยุโรป แต่พบว่ายอดขายสินค้าสุรา ไวน์ เหล้าสีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างปีนี้รวม 6,000 ล้านบาท ถ้าไทยยอม เหล้านอกจะทะลักเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคน้ำเมาในประเทศมากขึ้น เหล้าเสรีทำให้คนไทยเมามากขึ้น เรามองว่า ไม่ว่าเหล้าไทยหรือเหล้านอกก็ต้องควบคุม เพราะเป็นตัวการสร้างปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตเหมือนๆ กัน" แกนนำจากเครือข่ายงดเหล้าเน้นย้ำผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่ท่าทีรัฐบาลไทยแบ่งรับแบ่งสู้ในข้อเรียกร้องของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเอฟทีเอนั้น อีกฟากทางสหภาพยุโรป คำรณซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนที่ได้ไปเข้าพบและหารือกับหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอยุโรปนอกเวที เพื่อทวงถามความชัดเจนในการถอนรายชื่อสินค้าเหล้าออกจากการค้าเสรีกับไทย ซึ่งเขายอมรับว่ายังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด แถมยังมีท่าทีแข็งกร้าว ไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม และมองว่าปัญหาผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้านเรามาจากสินค้าในประเทศ และนโยบายควบคุมน้ำเมาของไทยที่ขาดประสิทธิภาพ
"เราประเมินท่าทีสหภาพยุโรปแล้ว จะเดินหน้าเจรจาเรื่องลดภาษีเหล้าแน่นอน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในประเทศไทย แสดงถึงความจอมปลอมของสหภาพยุโรป ถ้าไม่ป้องกันไว้อนาคตจะเกิดช่องให้สหภาพยุโรปเข้ามาแทรกแซงเรื่องนโยบายการปกป้องคนไทยจากน้ำเมาหรือไม่ โดยอ้างเป็นการกีดกันทางการค้า ทั้งที่ผลประโยชน์ตกเฉพาะกลุ่ม" คำรณแสดงความห่วงใยต่อกรณีนี้
ความไม่พร้อมของไทยต่อการเปิดเสรีเหล้านั้น เป็นประเด็นที่แกนนำเครือข่ายต้านเหล้าย้ำ เราไม่ได้คัดค้านการเจรจาเอฟทีเอ แต่เราต้องการให้การเจรจารอบคอบ อย่างกิจกรรมรณรงค์ที่เชียงใหม่ เน้นย้ำให้คนได้รู้และเข้าใจผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ต้องยอมรับว่ากฎหมายบ้านเราไม่เข้มข้นพอ ไม่สามารถปกป้องคนในประเทศได้ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปเห็นช่องทางการขยายตลาด เหตุที่รุกเจรจาเรื่องลดภาษีเหล้ากับไทย เพราะประชากรไทยบริโภคน้ำเมา 30% จากประชากรทั้งหมด 60 กว่าล้านคน เทียบกับยุโรปประชากรบริโภคน้ำเมาสูงถึง 85% ตลาดเกือบจะเต็มแล้ว
"สหภาพยุโรปจ้องหาตลาดใหม่ กระจายสินค้า ยิ่งประเทศที่มียอดขายต่ำยิ่งมีโอกาสทำตลาดมหาศาล เมืองไทยเป็นตลาดที่กลุ่มทุนใหญ่ยุโรปมุ่งหวัง 20 ล้านคนเป็นวัยดื่มได้ แต่ยังไม่ได้ดื่ม เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในอาเซียนซึ่งปัจจุบันประชากรมีรายได้มากขึ้น มีศักยภาพในการจับจ่ายสูงขึ้น จึงหนุนสินค้าแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ" คำรณเผยโอกาสสินค้าน้ำเมาอียูในตลาดไทยและอาเซียน
อย่างไรก็ตาม นอกจากลดภาษีสินค้าเหล้าแล้ว ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยยังมีอีก 3 เรื่องหลักๆ คือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ซึ่งกลุ่มศึกษาข้อตกลงเอฟทีเอนั้นคัดค้านท้วงติงมาตลอด เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น
การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุก และต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ไม่สามารถทำได้ จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง ถือว่าเป็นการทำลายอธิปไตยทางอาหารของประเทศ ซึ่งทางกลุ่มจะจับจ้องและติดตามการเจรจาทุกเรื่องในทุกรอบต่อไป เพราะอยากเห็นประเทศมีความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ.
สหภาพยุโรปจ้องหาตลาดใหม่ กระจายสินค้า ยิ่งประเทศที่มียอดขายต่ำยิ่งมีโอกาสทำตลาดมหาศาล เมืองไทยเป็นตลาดที่กลุ่มทุนใหญ่ยุโรปมุ่งหวัง 20 ล้านคนเป็นวัยดื่มได้ แต่ยังไม่ได้ดื่ม เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในอาเซียนซึ่งปัจจุบันประชากรมีรายได้มากขึ้น มีศักยภาพในการจับจ่ายสูงขึ้น จึงหนุนสินค้าแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 กันยายน 2556
- 25 views