ช่วงระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย.นี้ ไทยจะจัดการเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นการเจรจาที่มีความสำคัญมากกับประเทศเรา เพราะจะมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิทธิผู้บริโภค และอนาคตประเทศ ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ ไทยคล้ายจะถูกบีบกดดันจากทางฝั่งสหภาพยุโรป ที่ใช้เงื่อนไขเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีหรือ GSP ที่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหภาพยุโรป ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 ม.ค. 2557 หากทางสหภาพยุโรปพิจารณาไม่ต่อสัญญา ก็อาจกระทบกับภาคส่งออก
การเจรจา FTA หลายๆ ข้อตกลงที่ทางฝั่งสหภาพยุโรปเรียกร้องมา หากเรายอมตกลง จะทำให้คนไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ในแผ่นดินของเราอย่างน่าเสียดาย การเจรจาครั้งนี้หากภาครัฐที่ทำหน้าที่ขาดความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังในการเจรจา ประเทศไทยเราอาจต้องสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าไทยขาดความระมัดระวังในการเจรจา FTA
- ยารักษาโรคถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ยาราคาแพงจะคงอยู่ในตลาดยาโดยไม่มียาที่ถูกกว่าเข้ามาแข่งขัน ส่งผลให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา ส่งผลกระทบระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ หากยอมรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา
- เปิดทางให้บรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตเกษตรกรรมและอาหารจะสูงขึ้นอย่างมาก หากยอมรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ
- เปิดทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลงทุนทางเกษตร ด้วยเงินทุนเทคโนโลยีและเอื้อประโยชน์ทางนโยบายจากรัฐบาล เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง อาหารถูกผูกขาดและถูกกำหนดราคาโดยบริษัทจากการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร
- FTA นี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค การปกป้องสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือเกษตรกร ฯลฯ ด้วยกลไกที่เรียกว่า "กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน" ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดินหากรัฐบาลกำหนดนโยบายที่กระทบการหากำไรของบริษัทข้ามชาติ
อยากรู้ข้อมูลดีๆ เรื่องผู้บริโภคติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" www.ฉลาดซื้อ.com, www.facebook.com/chaladsue และโทร. 02-248-3737
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 กันยายน 2556
- 7 views