ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำหรับในส่วนภูมิภาค มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ
ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.56 อย.ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 142 ราย ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 11 ราย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จำนวน 8 ราย และเครื่องสำอาง 1 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 162 ราย ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น โฆษณาน้ำว่านหางจระเข้ มีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจว่าสามารถรักษาป้องกันโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างช่วยลดอาการวัยทองในผู้หญิง ช่องคลอดแห้ง ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันบำบัดฟื้นฟูโรคต่างๆ ทั้งเอดส์ มะเร็ง เป็นต้น อ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ อ้างรักษาอาการแขนขาไม่มีแรง อาการปวดเข่า ปวดเมื่อย อ้างช่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ กระดูกทับเส้น ประสาทตาอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคปอด เป็นต้น ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
ภญ.ศรีนวล กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ เพื่อมิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยดำเนินงานร่วมกับ กสทช. และ บก.ปคบ.อย่างใกล้ชิด และดำเนินคดีกับผู้โฆษณาและเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 11 กันยายน 2556
- 10 views