เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวถึงการประชุมการดำเนินการกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและบุตรที่เหมาะสมของประเทศไทยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงและอยากให้มีการบูรณาการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีความเกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์ ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบให้เรียบร้อย จึงให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ชุด โดยคณะทำงานชุดแรกมีหน้าที่เก็บและรวบรวมข้อมูลของแรงงานต่างด้าวให้สมบูรณ์โดยให้เชื่อมโยงกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ และได้มอบให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลจะอาศัยฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเดิมและการออกสำรวจเพิ่มเติม เรื่องนี้หากนายจ้างเห็นว่ามีแรงงานถูกกฎหมายให้จ้างจะทำให้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่หนีเข้าเมืองลดลง และเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ส่วนคณะทำงานชุดที่สองทำหน้าที่ชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงข้อดีข้อเสียของการใช้แรงงานต่างด้าว รวมทั้งข้อปฏิบัติของนายจ้างต่อแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เข้าไปทำความเข้าใจกับนายจ้าง เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ตามมา และคณะทำงานชุดที่สามมีหน้าที่ในเรื่องการสื่อสารกับต่างประเทศว่าประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนส.ค. 2556 พบว่า มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งพม่า กัมพูชาและลาวที่ทำงานอยู่ในไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานอยู่ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่รอการออกเอกสารรับรองเป็นแรงงานถูกกฎหมายรวมกว่า 2 ล้านคน ซึ่งแยกออกเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอยู่ในไทยอย่างถูกกฎหมาย 1,667,549 คน และแรงงานต่างด้าวมายื่นเรื่องเพื่อขอปรับเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานเข้าเมืองและทำงานอย่างถูกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ 651,143 คน แยกเป็นพม่า 462,162 คน ลาว 66,082 คน และกัมพูชา 122,899 คน โดยในจำนวนนี้มีแรงงานที่ได้รับการออกเอกสารรับรองปรับเปลี่ยนสถานะให้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย 492,881 คน แยกเป็นพม่า 450,938 คน ลาว 5,547 คน และกัมพูชา 36,396 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดตาม(บุตร)แรงงานต่างด้าวรวม 3,634 คน แยกเป็นพม่า 1,124 คน ลาว 912 คน และกัมพูชา 1,598 คนโดยในจำนวนนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะแล้ว 427 คน โดยเป็นบุตรแรงงานพม่าทั้งหมด
ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view