นักวิชาการชี้โรงพยาบาลทั่วประเทศยังจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อไม่ถูกต้อง เสี่ยงปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เหตุไม่มีการติดตามของหน่วยงานรับกำจัดขยะ ส่วนสภาพเตาเผาขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล 55% ไม่มีการใช้งาน อีก 14.28% ชำรุด

นางไฉไล ช่างดำ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มอนามัยสิ่งแวดล้อมศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี นำเสนอโปสเตอร์เรื่องสถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ ของโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ ศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี  ในงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า สถานพยาบาลในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 37,000 แห่ง ทำให้เกิดขยะมูลฝอยจำนวนมาก ที่สำคัญการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อยังพบไม่ถูกลักษณะและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเกิดความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป จึงมีการศึกษาการจัดการและประสิทธิภาพของเตาเผา ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน 94 แห่ง ในช่วง มี.ค.2556

นางไฉไล กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลทั้งหมดมี 5,604.53 กก.ต่อวัน มีการจัดจ้างหน่วยงานอื่นกำจัดร้อยละ 87.23 และเผาด้วยเตาของโรงพยาบาลเอง ร้อยละ 12.76 โดยหน่วยงานที่รับกำจัดเป็นเอกชนร้อยละ 47.87 เทศบาลร้อยละ 39.36 ค่ากำจัดขยะเอกชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.3-15 บาท และเทศบาลอยู่ที่ 9-11 บาท โดยรถเก็บมูลฝอยติดเชื้อร้อยละ 97.56 เป็นรถที่ควบคุมอุณหภูมิ และร้อยละ 2.43 เป็นรถบรรทุก ทั้งนี้ โรงพยาบาลร้อยละ 78.08 ยังไม่มีการติดตามการกำจัดมูลฝอยของหน่วยงานที่รับไปกำจัด ส่วนสภาพของเตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อในโรงพยาบาลสามารถใช้เผาได้เพียงร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 55 ไม่ได้ใช้งาน และร้อยละ 14.28 เตาชำรุด โดยสรุปพบว่า ขยะมูลฝอยติดเชื้อในโรงพยาบาลยังขาดการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งให้ความสำคัญ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 9กันยายน 2556