รมว.สธ. ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง พิมพ์ข้อความประชาสัมพันธ์ “บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 โทรฟรี แต่อย่าโทรเล่น” ลงบนซองใส่ยาและถุงใส่ยา ให้ผู้ป่วยและญาติเห็นข้อความบ่อยๆจนติดตา จำได้และใช้โทรทันทีเมื่อเจ็บป่วยหรือพบเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยถึงมือหมออย่างรวดเร็ว
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาล ได้มีนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาหน่วยแพทย์กู้ชีพ เป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่จะเดินทางไปดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และเปิดสายด่วนหมายเลข 1669 ให้ประชาชนทุกพื้นที่ โทรแจ้งขอความช่วยเหลือ ซึ่งเครือข่าย 1669 มีทุกจังหวัด อำเภอ โทรแจ้งฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถใช้กับโทรศัพท์ทุกชนิด แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังมีประชาชนจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และไม่ทราบว่าเมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องโทรขอความช่วยเหลือที่หมายเลขใด แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนสายด่วน 1669 ก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2555 มีประชาชนโทรแจ้งผ่านสายด่วน 1669 จำนวน 991,281 ครั้ง จากจำนวนการออกปฏิบัติการช่วยเหลือของหน่วยแพทย์กุชีพทั้งหมด 1,245,858 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 80 และยังพบว่ามีการโทรก่อกวนสายด่วน 1669 เช่นแจ้งเหตุหลอก อาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน พลาดโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือในช่วงวิกฤตชีวิตไป และได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วน 1669 ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์หมายเลข 1669 ให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น โดยขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง พิมพ์ข้อความ “บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 โทรฟรี แต่อย่าโทรเล่น” ลงบนซองใส่ยา และถุงใส่ยา ซึ่งต่อวันจะผู้ป่วยเข้า-ออกโรงพยาบาลทุกระดับประมาณ 500,000 คน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้อ่านและเห็นข้อความบ่อยๆ จะช่วยให้ติดตาและจำหมายเลขได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการโรคกำเริบได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถโทรขอความช่วยเหลือให้ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที และจะขยายความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัย กองทัพ และภาคเอกชน ในการประชาสัมพันธ์ข้อความดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่หลังรับแจ้งเหตุจนเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียชีวิต และลดความพิการของผู้ป่วยลง ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2555 สามารถไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีร้อยละ 84.50 สำหรับผลการให้บริการ รอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2556 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - มีนาคม 2556 หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกให้ความช่วยเหลือประชาชนรวม 601,719 ครั้ง ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินทางด้านอายุรกรรม เช่นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และร้อยละ 27 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร
- 27 views