จาการที่รัฐบาลมีนโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการทางการแพทย์ครบวงจร ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจสุขภาพอื่นๆ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นับว่าประเทศไทยมีความพร้อม
เนื่องจากในปัจจุบันการให้บริการทางการแพทย์ของไทยมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว แต่โจทย์ใหญ่สำคัญของการก้าวไปสู่ Medical Hub คือ การพัฒนางานด้านมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพยังเป็นภารกิจที่มีความซับซ้อนและหลากหลายในเชิงข้อมูลเป็นอย่างมาก นอกจากความซับซ้อนและความหลากหลายในตัวข้อมูล อุปสรรคในการพัฒนามาตรฐานยังเกี่ยวเนื่องกับสภาพโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระดับชาติที่มีความพร้อมและทรัพยากรแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน และต้องอาศัยการวางแผน การกำกับดูแล การวิจัยและพัฒนา การเจรจาหาข้อสรุป การเผยแพร่มาตรฐานเพื่อการนำไปใช้จริง และการประเมินผล
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ระบุว่า ในปัจจุบันการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาล เป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกที เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้อความและเอกสารสำหรับการแลกเปลี่ยนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ สถานพยาบาลส่วนใหญ่มีระบบสารสนเทศสำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยหรือ Health Information System (HIS) อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการส่งข้อมูลทางด้านสุขภาพหรือประวัติการรักษา เช่น กรณีการส่งต่อผู้ป่วย ยังต้องเป็นข้อมูลอยู่บนกระดาษ ซึ่งทำให้สูญเสียทั้งเวลา ทรัพยากร และเกิดความยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในขณะที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาให้เกิดการบูรณาการข้อมูลทางด้านสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานข้อความและเอกสารเพื่อการแลกเปลี่ยนขึ้น โดยใช้มาตรฐานสากลในการอ้างอิงเพื่อพัฒนามาตรฐาน เช่น มาตรฐาน HL7 CDA
ทั้งนี้ การสร้างมาตรฐานของข้อมูลไม่ได้เป็นการบังคับให้ทุกสถานพยาบาล หรือทุกองค์กรประกัน ต้องมีระบบการเก็บข้อมูล และระบบการทำงานที่เหมือนกันทุกประการ ตรงกันข้าม การกำหนดมาตรฐานของข้อมูลให้ถือปฏิบัติเหมือนกัน เป็นการให้อิสระแก่หน่วยงานแต่ละแห่งในการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ใช้ซอฟต์แวร์ ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ผลสุดท้าย บันทึกข้อมูลด้วยรหัสที่มีความหมายอย่างเดียวกัน และจัดรวบรวมตัวแปรต่างๆ ที่กำหนดในข้อมูลชุดที่เป็นมาตรฐาน แล้วส่งเพื่อแลกเปลี่ยนกันในระดับประเทศ
ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น จึงมีความร่วมมือกันในระดับหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ โรงพยาบาล โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข จัดงานสัมมนา “ทิศทางและอนาคตมาตรฐานข้อมูลสุขภาพไทย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพโดยการใช้มาตรฐาน HL7, HL7 CDA และรหัสยามาตรฐานไทย ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “Electronic Health Record Security and Patients’ Data Privacy” ร่วมด้วย นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) และ ดร.ภญ. อรลักษณ์ พัฒนาประทีป จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “แนวทางการนำรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicines Terminology -TMT) ไปใช้งานกับระบบมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ” พร้อมด้วย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บรรยายเรื่อง “Interoperability of Electronic Health Record” และ ดร.นพ. นวนรรน ธีรอัมพรพันธุ์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “HL7 and HL7 CDA: The implementation of Thailand healthcare messaging exchange standard” โดยในช่วงท้าย มีการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพไทย เพื่อยกระดับสาธารณสุขไทย” เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และสร้างความตระหนักของการมีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการสาธารณสุขไทย ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร กว่า 100 คน
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 14 views