นายแพทย์อุทัย ตัณศลารักษ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงานช่วงอายุตั้งแต่ 16-60 ปีประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในจำนวนนี้มีผู้ที่เจ็บป่วยโดยมีสาเหตุจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ได้แก่ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคปอด โรคผิวหนัง โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคภูมิแพ้ และโรคทางจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยไม่ได้ตระหนักว่าเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ จึงไม่หายขาด ทั้งๆที่สามารถรักษาให้หายได้ และยังช่วยป้องกันเพื่อนร่วมงานจากการเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ดังนั้นการวินิจฉัย รักษาและป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีความตระหนัก
กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์มีภารกิจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 ให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เครือข่ายด้านอาชีวเวชศาสตร์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และศูนย์พิษวิทยา โดยเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ บริการและการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งผลักดันให้เกิดนโยบายด้านสุขภาพในด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับนานาชาติให้สำเร็จผล
นายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย5 แนวทาง คือ 1. การพัฒนาบริการดูแล รักษา รับส่งต่อผู้ป่วยระดับตติยภูมิด้านอาชีวเวชศาสตร์และการพัฒนาเครือข่าย - การวินิจฉัยโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยเฉพาะ ภายในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีและโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ - การทำสัญญาตกลงกับกระทรวงแรงงานโดยเป็นแหล่งส่งต่อผู้ป่วยโรคจากการทำงานและการพัฒนาเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงานระดับภูมิภาคครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 81 แห่ง เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรคจากการทำงานซึ่งมีความยากและสลับซับซ้อน - การรับผู้ป่วยการส่งต่อจากองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล โดยเฉพาะเครือข่ายผู้เป็นโรคและประสบอันตรายจากการทำงานของสมัชชาคนจน 2. พัฒนานโยบายระดับชาตเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมในการกำหนดกฏหมายโรคจากการทำงาน รวมทั้งการจัดทำและเป็นศูนย์พิษวิทยาตามแผนความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 2 จนถึงฉบับที่ 4 จัดทำรูปแบบการรับอุบัติภัยด้านสารเคมีและรังสีให้แก่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข และจัดซ้อมแผนร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3. พัฒนาบุคลากร ถ่ายทอดเทคโนโลยีศึกษาอบรม โดยจัดทำและพัฒนาหลักสูตรด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้แก่แพทย์พยาบาลร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรปริญญาโทด้านอาชีวเวชศาสตร์ หลักสูตรเฉพาะทางด้านการพยาบาลอาชีวอนามัยและการจัดทำความก้าวหน้าของวิชาชีพแพทย์พยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ 4. การพัฒนาเพื่อตอบสนองฉุกเฉินผลกระทบสุขภาพด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จัดทำสายด่วนทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2517-4333 ตอบปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลและสถานประกอบการในพื้นที่
5. การพัฒนางานวิจัย แนวทางการปฏิบัติและรูปแบบการดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่สามารถดูแลสุขภาพคนทำงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครือข่ายศูนย์อาชีวเวชศาสตร์จนสามารถยกระดับถึงระดับสูงสุดในทุกภูมิภาคที่เป็นเครือข่าย และในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพัฒนาอาชีวเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีสู่ระดับสถาบันการแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมสากล
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านอาชีว เวชศาสตร์ร่วมกับ กรมสุขภาพของมณฑลกวางตุ้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการสัมมนาร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศในการจัดตั้งโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ให้เป็นสำนักงานจัดทำแนวทางวินิจฉัยโรคจากการทำงานในระดับอาเซียนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 28 สิงหาคม 2556
- 492 views