สปสช.ศึกษาระบบการจ่ายตามรายการของญี่ปุ่น หวังประยุกต์ใช้จ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ หลังพบสถานการณ์ไทยตามรอยญี่ปุ่น ทั้งการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แนวโน้มของโรคเปลี่ยนไป ด้านผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นชี้ไทยประสบผลสำเร็จสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลาสั้นมาก สิ่งที่ต้องทำอาจใช้เหมาจ่ายรายหัวคู่กับจ่ายตามรายการ จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency - JICA) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น มาแลกเปลี่ยนการปรับปรุงระบบการจ่ายค่าบริการแบบ Fee Schedule ของญี่ปุ่น หรือการจ่ายตามรายการที่กำหนด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย แม้ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นมีหลายระบบ แต่ระบบการเบิกจ่ายใช้การจ่ายตามรายการที่กำหนด(Fee schedule) ซึ่งการเบิกจ่ายควบคุมดูแลโดยรัฐ ทั้งมาตรฐาน เงื่อนไข และราคาเบิกจ่าย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ใช้ทั้งหน่วยบริการรัฐและเอกชน มีการออกเป็นกฎหมาย และทบทวนรายการที่กำหนดทุกๆ 2 ปี ข้อดีของการจ่ายตามรายการที่กำหนด คือ มีการกำหนดรายการและอัตราค่าบริการล่วงหน้า ทำให้โรงพยาบาลและผู้มีสิทธิทราบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้นยังสามารถกำกับการให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานได้โดยสะดวก
นายแพทย์วินัย กล่าวว่า เหตุที่ระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นใช้วิธีการจ่ายตามรายการที่กำหนดนั้น เนื่องมาจาก ค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วัยแรงงานลดลง แนวโน้มของโรคที่พบเปลี่ยนไปจากเดิมจากโรคติดต่อเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง โรคที่ทำให้มีอัตราตายสูงในประเทศญี่ปุ่น คือ มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลภาครัฐมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของรัฐ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานบริการ เงื่อนไขบริการ และราคาเบิกจ่าย ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ภายใต้ระบบจ่ายตามรายการที่กำหนดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการรพ.รัฐ และการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพระยะยาว (Long Term Care Insurance) ดูแลผู้สูงอายุ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการขึ้นทะเบียน และคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย
“ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านระบบสาธารณสุขของไทยในขณะนี้ที่มีระบบประกันสุขภาพมา 10 ปี เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบประกันสุขภาพมาแล้วกว่า 50 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ใช้งบประมาณด้านสุขภาพเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อม ทั้งระบบการดูแล ชุดบริการ บุคลากร และการเงิน โดยยึดหลักการว่า งบประมาณต้องเพียงพอ หน่วยบริการอยู่ได้ ผู้ให้บริการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ประชาชนเป็นเจ้าของระบบและได้รับบริการมีประสิทธิภาพตรงตามกลุ่มโรคและความจำเป็นจริงๆ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมไปถึงการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งมีการหารือกับโรงเรียนแพทย์ สนใจระบบดังกล่าว อาจนำร่องในร.พ.สงขลานครินทร์ ร.พ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น"” เลขาธิการสปสช. กล่าว
ด้าน ศ.จอห์น เครกตัน แคมพ์แบล จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และโครงการหุ้นส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าญี่ปุ่นและธนาคารโลก กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นและไทย ที่มีผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) หลายแห่ง ซึ่งเป็นโอกาสดีในการนำปัญหามาช่วยกันแก้ไขผ่านประสบการณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งไทยนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้เวลาสั้นมาก การใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว(Capitation) เป็นวิธีที่ดี แต่เมื่อทำไประยะหนึ่งอาจต้องมองหาทางเลือกอื่น เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการ การเริ่มใช้ Fee schedule หรือการจ่ายตามรายการที่กำหนด โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ มีความเป็นไปได้ ซึ่งสุดท้ายเมื่อวิเคราะห์แล้ว บางอย่างอาจใช้ระบบการจ่ายตามรายการที่กำหนด บางอย่างเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัวหรือใช้ร่วมกันก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น
1. Fee for Services หรือจ่ายตามที่เรียกเก็บ ระบบนี้เป็นการจ่ายปลายเปิดเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดบริการขึ้นเท่าไรในปีนั้นๆ สวัสดิการข้าราชการใช้ระบบนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเงินการคลังสุขภาพอย่างมาก
2. DRGs หรือการจ่ายตามกลุ่มโรคและน้ำหนักของโรค ปัจจุบันสปสช.ใช้ระบบนี้กับการจ่ายแบบผู้ป่วยใน ขณะที่สปส.ใช้เฉพาะกลุ่มโรคร้ายแรง
3. Capitation หรือเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ใช้กับบริการผู้ป่วยนอก สปส.ใช้ทั้งกลุ่มผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบางรายการ
4. Fee Schedule เป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด คือกำหนดรายการและราคาที่จะจ่ายชดเชยให้ เช่น เย็บแผลจ่ายเข็มละ 50 บาท ฯลฯ
- 2420 views