แพทยสภาเตรียมประกาศยกเลิกใช้ "ซิลิโคนเหลว" เสริมความงาม ชงเข้า คกก.แพทยสภา 12 ก.ย.นี้ หลังพบสถิติมีผลต่อเนื้อเยื่อทำให้เกิดเนื้องอกจำนวนมาก
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลย กรรมตกแต่ง การเสริมสวย และการโฆษณา เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้มีการพิจารณาการฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ เพื่อใช้ในการเสริมสวย โดยสารเติมเต็มนี้มี 3 รูปแบบ คือ 1.สารเติมเต็มที่สลายไป ได้เองภายใน 3-6 เดือน 2.สารเติมเต็มที่สลายภายใน 1-2 ปี และ 3.สารเติมเต็มที่ไม่สลายตัว ซึ่งเป็นการพิจารณาสารเติมเต็มในรูปแบบที่ 3 คือซิลิโคน ซึ่งจากรายงานของสมาคมศัลยกรรมตกแต่งพบว่า ภายหลังการฉีดได้ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย นอกจากไม่ได้ทำให้สวยขึ้นแล้ว ยังมีการอักเสบ ติดเชื้อ ก่อตัวขึ้นเป็นก้อนเนื้อ ผิวขรุขระ และยังมีการไหลลงไปสู่ที่ตามแก้ม ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขทำได้ยากมาก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้สารเหล่านี้ในการเสริมสวยค่อนข้างมาก ดังนั้นอนุกรรมการฯ จึงมีมติเสนอให้มีการออกประกาศห้ามการฉีดสารเติมเต็มที่ไม่สลายตัว ไม่ว่าจะเป็นซิลิโคนเหลวในรูปแบบใด อย่าง ไบโอพลาสติก พลาฟิน หรือสารอื่นๆ ไม่สลายตัว เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกรายก็ตาม ถือเป็นการประกาศครั้งแรกของประเทศไทยที่จะห้ามฉีดสารนี้ โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 12 กันยายน 2556 นี้
นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเข้าซิลิโคนเหลวไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่แล้ว ดังนั้นการบริการฉีดซิลิโคนเหลวไม่ว่าที่ใดถือว่ามีความผิดทั้งหมด แต่ที่ผ่านมามีผู้ที่ลักลอบนำเข้าและฉีดให้กับประชาชนทั่วไป โดยผู้ฉีดมีทั้งแพทย์และไม่ใช่แพทย์ ดังนั้นการออกประกาศยกเลิกการฉีดซิลิโคนเหลวนี้จะมีผลเพื่อเป็นการเตือนให้ความรู้ประชาชนที่จะไปรับการฉีดสารเติมเต็ม ว่าสารที่ฉีดนี้เป็นสารอะไร ได้รับการรับรองจาก อย.หรือไม่ เพราะปัจจุบันมีเพียงสารฉีดเติมเต็มเดียวที่ได้รับการรับรองคือ ไฮยาลูรอน เอซิก เท่านั้น แม้แต่คอลลาเจนก็ไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ในการฉีดซิลิโคนเหลวมีเพียงกรณีเดียวที่ได้รับการยกเว้น เนื่องจากเป็นการใช้เพื่อการรักษากรณีที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อยุบหรือฟ่อ อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อ เป็นต้น แต่ก็มีการใช้ที่น้อยมาก นอกจากนี้ การประกาศนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมการโฆษณาและการทำธุรกิจ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการดูในเรื่องการโฆษณา
"การประกาศยกเลิกการใช้ซิลิโคนเหลว ของแพทยสภานี้ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนประชาชนแล้ว ยังมีผลในการลงโทษแพทย์ที่ใช้สารเหล่านี้ในการตกแต่งศัลยกรรม ซึ่งจะทำให้มีบทลงโทษต่อวิชาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น" เลขาธิการแพทยสภากล่าว
นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลย กรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับศัลยกรรมตกแต่งฯ กล่าวว่า การใช้สารเติม เต็มซิลิโคนเหลวในส่วนของใบหน้าที่ผ่านมา พบว่าภายหลังการฉีดไปแล้วมีผู้รับการฉีดจำนวนมากเกิดปัญหา จากการศึกษาพบว่าหลังการฉีดซิลิโคน 1-2 ปีแรก การฉีดจะสวยและเข้าที่ แต่หลังจากนั้น 3-5 ปีจะเริ่มแสดงผลการทำลายเนื้อเยื่อใต้เซลล์ผิวหนัง ซึ่งจะมีอาการต่างๆ ตั้งแต่การเกิดอาการบวม อักเสบ การติดเชื้อ มีผื่นแดง ผิวขรุขระ ใบหน้าบิดเบี้ยว และจะเริ่มคลำพบเนื้องอก
นพ.ชลธิศกล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนไข้จำนวนมากที่เข้ารับการรักษาจากการฉีดซิลิโคนเหลว โดยต้องมีการผ่าตัดนำซิลิโคนเหลวใต้ผิวหนังออก ซึ่งในการรักษานั้นจะนำไขมันสเต็มเซลล์บริเวณหน้าท้องมาปลูกใส่ทดแทนเนื้อที่หายไปเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น และในอนาคตจะเป็นวิธีที่นำมาใช้ทดแทนการใช้สารเติมเต็ม เพราะเป็นเนื้อเยื่อของเราเอง จึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน
"ในผู้ที่ฉีดซิลิโคนเหลวไปแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกรายที่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ภายหลังการฉีดแล้วไม่มีอาการใดๆ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาเพื่อนำสารเติมเต็มนี้ออก ยกเว้นผู้ที่เกิดอาการต่อต้าน ดังนั้น กรณีการประกาศของแพทยสภาที่ยกเลิกการฉีดซิลิโคนเหลวจึงไม่ต้องตระหนก" นพ.ชลธิศกล่าว และว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของซิลิโคนเหลวเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงซิลิโคนแท่งที่ไม่เป็นการปัญหา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 สิงหาคม 2556
- สัมพันธ์ คมฤทธิ์
- เลขาธิการแพทยสภา
- อนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลย กรรมตกแต่ง การเสริมสวย และการโฆษณา
- สารเติมเต็ม
- ฟิลเลอร์
- ซิลิโคน
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ไฮยาลูรอน เอซิก
- ชลธิศ สินรัชตานันท์
- สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย
- อนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับศัลยกรรมตกแต่งฯ
- อาการบวม
- อักเสบ
- การติดเชื้อ
- ผื่นแดง
- ผิวขรุขระ
- ใบหน้าบิดเบี้ยว
- เนื้องอก
- 87 views