Hfocus -มีใครหน้าไหนมันอยากจะเจ็บอยากจะป่วยล่ะ ไม่มีหรอกไอ้พันธุ์ที่ตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้าล้างตา หมายมั่นตั้งใจวันนี้ฉันจะไปเดินส่ายอยู่ที่โรงพยาบาล
ยิ่งชีวิตต้องแทะก้อนเกลือประทังท้องด้วยแล้ว, ลองมีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่อดูสิ ทูนหัวเอ๋ย สาหัส-กระเป๋าฉีกรากแทบสาด
ลำพังประชาชนคนไทยราษฎรเต็มขั้น แม้รัฐจะให้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค (ตอนนี้รักษาฟรีแล้ว) แต่ถามหน่อยเถอะ ค่าเดินทาง ทั้งค่ารถค่ารา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าข้าวค่าน้ำ ค่าเสียรายได้ที่ต้องหยุดงาน เป็นใครก็เสียดาย
กระทั่งมนุษย์เงินเดือนผู้ประกันตนผู้ซื่อสัตย์ต่อสำนักงานประกันสังคม (เพราะไม่อาจแข็งขืนกับกฎหมายที่บังคับได้) ต่อให้ภาครัฐจะออกแคมเปญหรูหราเพียงใด อวดอ้างสรรพคุณให้สิทธิประโยชน์โน่นนี่อย่างไร เอาเข้าจริงเงินที่ถูกหักทุกเดือนเพื่อแลกกับยาพาราผสมแป้ง ใครมันอยากจะได้(หรือจะเถียง? หือ)
แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง ... ไม่มีใครทะลึ่งอยากจะป่วยหรอกคุณ ถึงมีเงินถุงเงินถังก็ไม่อยากป่วย
ส่วนที่ไม่มีเงินยิ่งแล้วใหญ่ ... สุดแสนรันทดเกินกว่าสมาชิกชาวโลกสวยจะจินตนาการถึง
คุณรู้ไหม? ... ทุกวันนี้ มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกคนดำรงอยู่โดยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากเท่าไร, ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งนั้น (ขณะที่คนไทยมีบัตรทองเป็นหลักประกันสุขภาพ) พวกเขาแทบไม่มีทางเลือกให้กับชีวิตเลย
“จะไปสนใจพวกต่างด้าวทำไม (วะ)” ใครบางคนที่คลั่งเชื้อชาติไทยจนเสียสติโพล่งขึ้น
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติวิธีให้ซื้อ “บัตรสุขภาพ” มนุษย์ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินปีละ 1,300 บาท แลกกับสิทธิยามเจ็บป่วยจะได้มีโรงพยาบาลรักษา
อ้อ ลืมบอกไป, กฎหมายตีกรอบไว้ คนที่ซื้อได้ก็เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าระบบ ไม่ได้เป็นแรงงานที่มีนายจ้าง (ถ้ามีนายจ้างกฎหมายบังคับให้เข้าประกันสังคม ซึ่งต้องถูกหักเงินสมทบทุกเดือนเหมือนคนไทย) ดังนั้นคนที่มีสิทธิจะเป็นพวก รับงานกลับไปทำที่บ้าน ภาคเกษตร ประมง อะไรเทือกนี้
แรกเริ่มเดิมที สธ.กำหนดไว้เช่นนั้น แต่นานเข้ามีการย่อหย่อนกฎเกณฑ์ลง (โรงพยาบาลบางแห่งยอมขายบัตรสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย) ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะรัฐไม่ต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
เอาสภาพความเป็นจริงมาตั้งบนโต๊ะ ลองพินิจกันให้รอบด้านทุกเหลี่ยมทุกมุม, เงินจำนวน 1,300 บาท แพงเกินไปหรือไม่ ... จากการพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติ ใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เลย ยังรับไหว”
รับไหวในที่นี้ คือมองว่าค่าประกันรายปีไม่ได้แพงเกินไป แต่ใช่ว่าจะไม่กระทบเงินในกระเป๋า (มันคนละเรื่อง)
สำหรับสิทธิประโยชน์สนนราคาที่ 1,300 บาท นั้น โดยใจความสำคัญคล้ายคลึงกับบัตรทองนั่นแหละ ยกเว้นตรงไม่คุ้มครองยาต้านไวรัสเอชไอวี ไม่คุ้มครองการดุแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การเปลี่ยนอวัยวะ และการทำฟันปลอม
ลูกหลานบุเรงนองรายหนึ่ง เล่าว่า ทุกๆ ปี ต้องเสียเงินค่าประกันสุขภาพ 1,900 บาท แบ่งออกเป็น ซื้อบัตรสุขภาพ 1,300 บาท และตรวจสุขภาพรายปี 600 บาท และเมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารับรักษาในโรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 30 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพง
อย่างไรก็ดี หญิงพม่า แรงงานใน จ.ระนอง รายนี้ ยอมรับว่า แม้จะเสียเงินซื้อบัตรสุขภาพแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเมื่อเจ็บป่วยหมอกลับไม่อยากรักษา พยาบาลก็พูดจาด้วยไม่ดี ที่สำคัญยาที่ได้มาก็มีแต่พารา ส่วนใหญ่จะไม่หายป่วย สุดท้ายก็ต้องไปใช้บริการคลินิก เสียเงินอีกครั้งละเกือบ 500 บาท
หญิงพม่าอีกราย อายุราว 35 ปี แต่สภาพร่างกายทำให้ดูแก่เกินจริงร่วม 10 ปี เล่าว่า ทุกวันนี้มีอาชีพรับเลี้ยงเด็ก ได้ค่าจ้างวันละร้อย เดือนๆ หนึ่ง หักค่าเช่าห้อง (3 คน 1,000 บาท) ค่ากินค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายจิปะถะ พอมีเงินเก็บเหลือ 200-300 บาท เงินส่วนนี้ต้องกันไว้อีก 100 บาท เพื่อซื้อบัตรสุขภาพ
“ลำบากแต่ก็ต้องซื้อ เพราะเราไม่มีเงินไปหาหมอเองที่คลินิก มันแพงกว่ามาก แต่ไปโรงพยาบาลก็ยุ่งยาก เราไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง พูดจาก็ไม่รู้เรื่อง ที่โรงพยาบาล (ระนอง) มีล่าม 3-4 คน แต่มีคนไปหาหมอทั้งวัน ถ้าล่ามไม่ว่างเราก็ต้องรอ บางวันรอแล้วก็ไม่ได้รักษาเพราะเย็นค่ำเสียก่อน” เธอเล่าด้วยภาษาถิ่นของเธอ
ล่าสุด ... นโยบายใหม่แกะกล่องยุค นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เจ้ากระทรวง มีดำริ “เพิ่มราคาบัตรสุขภาพ” โดยเคาะออกมาแล้วที่ 2,200บาท (รวมตรวจสุขภาพอีก 600 บาท เป็น 2,800 บาทถ้วน) ดีเดย์เริ่มขาย กลางเดือน ส.ค.นี้ แน่นอน
น้ำตาตกไปตามๆ กัน
สำหรับส่วนต่างจาก 1,300 บาท เป็น 2,200 บาท บวกลบคูณหารออกมาคือ 900 บาท ค่าใช้จ่ายที่งอกเพิ่มในส่วนนี้ สธ.อ้างว่า จะขยายสิทธิให้แรงงานข้ามชาติสามารถรับ “ยาต้านไวรัสเอดส์” ได้
แรงงานข้ามชาติซึม ... ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ต้องสมยอมสถานเดียว
ชูเลิศ ตันลิขิต มูลนิธิศุภนิมิต มองว่า ลำพังราคาเดิมคือ 1,300+600 ก็มีปัญหาแล้ว โดยเฉพาะกับนายจ้างที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากแรงงานทีหลัง หากลูกจ้างทำงานอยู่เพียงเดือนเดียวแล้วหนี หรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่ นายจ้างย่อมเสียเงินฟรี
หากเพิ่มเบี้ยขึ้นอีกเป็น 2,200+600 เชื่อว่านายจ้างคงไม่พอใจ สุดท้ายภาระก็จะตกมาที่แรงงาน แล้วก็จะเกิดการหลบเลี่ยงไม่ยอมซื้อบัตรสุขภาพ ที่สุดแล้วปัญหางบประมาณรักษาพยาบาลก็ตกลงที่รัฐ
“จากที่พูดคุยกับแรงงานเอง ไม่มีใครอยากให้ขึ้นราคาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือด้านเอดส์ ถามว่าถ้าคนไม่เป็นเอดส์หรือไม่มีความเสี่ยง ทำไมเขาถึงต้องจ่าย แน่นอนว่าเขาคงไม่อยากจ่ายส่วนนี้” นักเคลื่อนไหวรายนี้ ระบุ
แตกต่างกับ อารีศรี โฆสาลี มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จ.ระยอง ที่เห็นว่า การเพิ่มเงินอีก 900 บาท แต่ให้สิทธิรับยาต้านไวรัสเอดส์เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะเท่าที่ทำงานกับหญิงบริการชาวพม่า พบว่า 6 ใน 10 คน ติดเชื้อ คนกลุ่มนี้จึงต้องการยาต้านไวรัสมาก
“ในส่วนของหญิงบริการชาวพม่าทุกคนพร้อมจ่าย และรู้สึกดีใจมากที่กลางเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าวันที่ 12 ส.ค.นี้ บัตรสุขภาพจะครอบคลุมให้เบิกยาต้านไวรัสได้ นั่นเพราะทุกๆ เดือน ผู้ที่ติดเชื้อต้องซื้อยากินเองเดือนละ 800-900 บาท หากจ่ายปีละครั้งแล้วครอบคลุมเลย ย่อมเป็นเรื่องดี”อารีศรี กล่าว
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ได้ประโยชน์ เอาด้วย ... ผู้เสียประโยชน์ ไม่เอา
เป็นไปได้ไหม? ที่ส่วนต่าง 900 บาท จะให้เป็นออฟชั่นพิเศษ เฉพาะคนที่ต้องการเลือกซื้อ ... หรือไม่ก็ หาทางถัวเฉลี่ยราคาลงมาให้ต่ำกว่านี้สักหน่อย
อย่าไปซ้ำเติมชะตากรรมใคร ด้วยความหวังดีเลย มันบาป
- 1843 views