องค์กรแรงงานข้ามชาติ แถลง “นโยบายรัฐไทยกำลังสร้างความไม่มั่นคงทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย” ผิดหวังที่แนวคิดทางนโยบายเสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับต่างจากแรงงานไทย กำหนดให้เป็นผู้ประกันตน รับสิทธิไม่ครบ 7กรณี โดยตัดสิทธิกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร ถือเป็นนโยบายเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์(MAP Foundation) ได้ออกแถลงการณ์ “นโยบายรัฐไทยกำลังสร้างความไม่มั่นคงทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย” ต่อสังคม โดยระบุว่า การที่ปลัดกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดว่า แรงงานต่างชาติไม่ควรได้รับสิทธิประกันสังคมเท่ากับคนไทยนั้น เป็นข้อเสนอที่น่าผิดหวังที่แนวคิดทางนโยบายเสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะมีผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า การที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิครบ 7กรณี โดยตัดสิทธิกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรออกไป เหตุผลที่ให้คือเนื่องจากไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวมาตั้งรกรากในไทย นั้น มูลนิธิฯเห็นว่านโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติและจะสร้างความตึงเครียดความเป็นปรปักษ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติและสังคมไทย อีกทั้งยังขัดต่อหลักการและเจตจำนงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
“เราได้แต่หวังว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระต่อไปนั้นจะไม่รับหลักการและหรือร่างกฎหมายใดๆที่เสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่าง ที่มีการเลือกปฏิบัติและไม่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์และสิทธิที่เท่าเทียม”
แถลงการณ์ “นโยบายรัฐไทยกำลังสร้างความไม่มั่นคงทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย”
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2553 สำนักงานประกันสังคมได้สัญญาว่าจะให้การคุ้มครองลูกจ้างแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเข้ามาทำงานถูกกฎหมายและได้ขึ้นทะเบียนประกันตน จ่ายเงินสมทบว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์7 กรณีเท่ากับแรงงานไทยข้อสัญญาดังกล่าวถูกทำให้เป็นนโยบายโดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
แรงงานข้ามชาติได้บากบั่นทำตามข้อกำหนดทุกขั้นตอน พวกเขาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อทำให้ตัวเองถูกกฎหมายและเชื่อว่าจะได้รับสิทธิที่แท้จริงสมกับความพยายามหลังจากที่พวกเขาเข้าสู่กระบวนการแล้วซึ่งรวมถึงเป็นประตูไปสู่การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันการได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสังคมที่ได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี และหากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างลูกจ้างสามารถรับสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ แต่ว่ากลายเป็นว่าพวกเขากำลังถูกหลอก
มิใช่แค่ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาทจริงๆแล้ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่พวกเขาจะได้รับทั้งเจ็ดประการกำลังถูกทำให้ลดลงไปต่อหน้าต่อตา
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานได้เปิดเผยว่า ตนได้ศึกษาข้อกฎหมายและมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ทำให้โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเท่าเทียมกับแรงงานไทยทั้งหมด ควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยจากคำให้สัมภาษณ์ดูเหมือนว่าแรงงานหญิงจะตกเป็นเป้าในการจำกัดสิทธิที่ชัดเจนในขณะที่กรณีคลอดบุตรยังคงได้รับการคุ้มครองเฉพาะการทำคลอด แต่แรงงานหญิงจะถูกยกเว้นเงินทดแทนการขาดรายได้ในช่วงที่ลาคลอด และกรณีสงเคราะห์บุตรเพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเห็นความสำคัญของการคุมกำเนิด เพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เพราะแรงงานเหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานในไทยระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นและกรณีชราภาพควรปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินในรูปแบบบำเหน็จแทนการจ่ายเงินแบบบำนาญ ปลัดกระทรวงแรงงานยังกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีว่างงานนั้นแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับความคุ้มครองเนื่องจากเข้ามาทำงานในไทยด้วยความสมัครใจเมื่อพ้นสภาพการทำงานจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยต้องเดินทางออกจากประเทศไทยภายใน7 วัน [1]
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์(MAP Foundation) ซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติรู้สึกตกใจและผิดหวังที่แนวคิดทางนโยบายเสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะมีผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างเป็นระบบนอกจากนั้นจากการรายงานข่าวของ สำนักข่าวแห่งชาติกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 [2] ระบุด้วยว่าสำนักงานประกันสังคมได้แก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิครบ 7กรณี โดยตัดสิทธิกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรออกไป เหตุผลที่ให้คือเนื่องจากไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวมาตั้งรกรากในไทย
นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติและจะสร้างความตึงเครียดความเป็นปรปักษ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติและสังคมไทย อีกทั้งยังขัดต่อหลักการและเจตจำนงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(CEDAW) ซึ่งในข้อ11 (2) ได้ระบุว่า เพื่อที่จะป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรีด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการแต่งงานหรือความเป็นเพศมารดาและเพื่อประกันสิทธิอันแท้จริงของสตรีในการที่จะทำงาน รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อห้ามภายใต้การบังคับใช้ของข้อห้ามต่าง ๆ ไม่ให้มีการปลดเพราะเหตุแห่งการตั้งครรภ์หรือเพราะการลาคลอดบุตร รัฐต้องริเริ่มให้มีการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง หรือได้ผลประโยชน์ทางสังคมที่เปรียบเทียบได้โดยไม่สูญเสียการงานเดิมอาวุโสในการทำงานหรือเงินช่วยเหลือทางสังคม พันกรณีในข้อนี้ยังกำหนดให้รัฐส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและพัฒนาขอบข่ายของสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูเด็กยิ่งกว่านั้นประเทศไทยจักต้อง ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยบุคคลองค์การหรือวิสาหกิจใดๆ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในข้อ 2-5 โดยสิทธิดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือละเมิดได้รัฐไทยในฐานะที่เป็นประเทศภาคีมีความผูกพันที่จะประกันสิทธิและงดเว้นจากการเข้าไปพัวพันในการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และรับประกันว่าเจ้าหน้าที่และสถาบันของรัฐจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับข้อผูกพันนี้ ดังนั้นระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างที่มีการเสนอนั้นจะเป็นการสร้างมิใช่การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทยและเครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน) โดยข้อเสนอบางส่วนเสนอให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราที่แรงงานนอกระบบจะต้องสมทบ รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารงานที่ต้องมีการอภิบาล เนื่องจากข้อห่วงใยหลักของผู้ประกันตนคือการที่โครงสร้างในขณะนี้ของกองทุนประกันสังคมก่อให้เกิดการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้ และจะส่งผลให้กองทุนไม่สามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนทุกคนตามสิทธิที่มีได้ โดยร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงานและประชาชนนั้นมีเนื้อหาคลอบคลุมมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน และสร้างอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงานในการเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนประกันสังคม แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าว
เราได้แต่หวังว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระต่อไปนั้นจะไม่รับหลักการและหรือร่างกฎหมายใดๆที่เสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่าง ที่มีการเลือกปฏิบัติและไม่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์และสิทธิที่เท่าเทียม
[1] สำนักข่าวไทยTNA News 28 พ.ค. 2556 http://www.mcot.net/site/content?id=51a4768f150ba0ec2f0001ce#.Ufsh-1IeWSo
[2] http://thainews.prd.go.th
- 6 views