นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร
ถึงเวลานี้ หลายคนคงคุ้นชื่อของ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร มากขึ้นในฐานะที่เป็นผู้ที่กำราบความรุนแรงของกามโรค และลดการระบาดของโรคเอดส์ลงอย่างราบคาบ ด้วยนโยบายการใช้ถุงยางอนามัย 100% ในทุกพื้นที่ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 5 จากหนังสือ Influencer ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และยังได้รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2552 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแด่บุคคลหรือหน่วยงาน ซึ่งอุทิศตนทำงานสร้างสรรค์ เพื่อความก้าวหน้าในงานของตนอย่างต่อเนื่อง และงานนั้นส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตและสังคม และล่าสุดได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2552 สาขาการสาธารณสุข เป็นเกียรติประวัติสูงสุด ทั้งยังเคยผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งหนทางที่ผ่านมาของคุณหมอที่มีชัยชนะต่อโรคร้ายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่สำเร็จโดยง่าย
อาจารย์เริ่มให้ความสนใจกับการระบาดของโรคเอดส์ตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มแรกที่ผมรู้จักโรคเอดส์ คือ ปี พ.ศ.2526 ตอนนั้นผมรับการอบรมในโครงการแพทย์เฉพาะทางด้านระบาดวิทยา หรือที่เรียกว่า (Field Epidemiology Training Program – FETP) ซึ่งคนที่เข้าโครงนี้ช่วงแรกๆ จะได้ไปดูงานที่ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ ผมไปอยู่ที่นั่น 3 เดือน เผอิญตอนนั้นที่สหรัฐมีข่าวโรคเอดส์ชุกชุมมากเลย คือโรคนี้เพิ่งเกิดได้ 2 ปี แล้วรักษาไม่ได้ คนจึงสนใจกันมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชน
เวลาผมเดินทางไปรัฐต่างๆ เขาก็รายงานข่าวเรื่องนี้กันเต็มไปหมด เผอิญช่วงนั้นผมมีตำแหน่งอยู่กองกามโรคด้วย เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ พอกลับมา จึงหยิบมาเขียนลงวารสาร แต่ว่าตอนนั้นโรคยังไม่เข้ามาในเมืองไทย เพิ่งมีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคเอดส์คนแรก ในเดือนกันยายนของปีถัดมา
พอมีรายงานการเกิดโรคขึ้น อาจารย์ทำอะไรบ้าง
ไม่ได้ทำอะไรมาก แต่เนื่องจากผมอยู่กองกามโรค แล้วโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราจึงพยายามให้ความรู้กับประชาชนมากกว่า มีการจัดนิทรรศการที่ธนาคารศรีนคร สำนักงานใหญ่ เป็นนิทรรศการสัปดาห์ต่อต้านกามโรค แล้วจัดบอร์ดเรื่องโรคเอดส์ด้วย แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะเขามองว่าโรคนี้เป็นโรคของเกย์ เราเองก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่คิดว่ามันจะระบาดมากมาย
จนกระทั่ง ผมย้ายไปเป็นหัวหน้าฝ่ายสืบสวนโรค จึงแทบจะไม่ได้ยุ่งกับเรื่องนี้เลย เพราะหน้าที่หลัก คือ ให้ข้อมูลกับผู้บริหารในศูนย์ประสานงานทางวิชาการของกรมควบคุมโรคติดต่อ จะมายุ่งกับโรคเอดส์บ้าง ก็ตอนที่ต้องไปประสานงานกับคณะกรรมการโรคเอดส์ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในกระทรวง มีคนนอกจากสภากาชาดบ้าง ทำให้ไม่มีบทบาทมากนัก
ผมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องโรคเอดส์จริงๆ ช่วงปีพ.ศ.2530 ตอนนั้นโรคเอดส์เป็นที่ฮือฮากันมาก เพราะเริ่มพบผู้ติดเชื้อจากการรับเลือด ทางผู้ใหญ่จึงรู้สึกว่าปล่อยไว้ไม่ได้แล้วต้องตั้งหน่วยงานมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ในที่สุด นพ.อุทัย สุดสุข อธิบดีกรมควบคุมโรคตอนนั้น ตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ขึ้น จากนั้นเขาก็ให้ผมมาเป็นผู้อำนวยการคนแรก
ทำไมเขาถึงเชิญอาจารย์มาทำหน้าที่นี้
จริงๆ อธิบดีเขาก็ไม่ได้เสนอผมหรอก เขาเสนอคุณหมออีกท่านจากกองกามโรค แต่พอเสนอแล้ว ข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมแย้งว่าคนนั้นไม่เหมาะ อธิบดีเขาเลยถามว่าแล้วใครเหมาะ พอดีวันนั้นผมนั่งอยู่ท้ายห้อง เขาก็มองมาที่ผมแล้วบอกว่า วิวัฒน์เหมาะ พอคนหนึ่งบอกวิวัฒน์ คนอื่นก็เห็นด้วยกันหมด ท่านอธิบดีเอง ตอนนั้นไม่รู้จักผมเท่าไหร่ก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเอาวิวัฒน์แล้วกัน
ตอนนั้นอาจารย์มองโรคนี้ว่าอย่างไร
ผมก็มองเหมือนคนอื่นๆ นะ คือโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้ 3-4 วิธี หากจะป้องกันก็ต้องหาหนทางที่จะแพร่ เช่น ถ้าติดจากเลือดก็ตรวจเลือด ถ้าติดจากเพศสัมพันธ์ก็ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ถ้ามาจากยาเสพติดก็ไม่ให้เขาฉีดยา คือ มองแบบนักระบาดวิทยาจริงๆ วิเคราะห์ปัญหาแบบตรงไปตรงมา
ตอนนั้นคิดถึงโครงการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือถุงยาง 100% หรือยัง
ไม่มีอยู่ในสมองเลย คือ ตอนที่ผมทำงานอยู่กองกามโรค ส่วนใหญ่เอดส์นั้นจะแพร่อยู่ในกลุ่มเกย์เท่านั้น เราจึงไม่คิดถุงยางอนามัยเลย แต่ว่ามีงานวิจัยจากต่างประเทศบอกว่าปัจจุบันนี้หญิงบริการเริ่มเป็นโรคนี้กันมาก เพราะฉะนั้นหญิงบริการจึงเป็นกลุ่มเสี่ยง และยิ่งหากหญิงคนนั้นป่วยเป็นกามโรค โอกาสจะรับเชื้อเอดส์ก็ยิ่งง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นเรามองว่า ถ้าจะแก้โรคนี้ได้ ก็ต้องแก้กามโรคก่อน
พอดีก่อนหน้านั้นผมเคยทำวิจัยร่วมกับ นพ.วินัย สวัสดิวร (เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนปัจจุบัน) เรื่องวิธีป้องกันกามโรค โดยเราไปทดสอบกับหญิงบริการตามอาบอบนวดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราลองสอดยาสอดช่องคลอดที่เรียกว่า Microbicide เพื่อฆ่าเชื้อโรค ขณะเดียวกันเราก็ทำกลุ่มเปรียบเทียบอีกกลุ่ม โดยกลุ่มหลังเราไม่ให้ยารักษากามโรค หากพบว่าป่วย จากนั้น ค่อยมาตรวจดูว่ากลุ่มไหนจะเป็นกามโรคมากกว่ากัน เราติดตามกันทุกอาทิตย์ เป็นเวลา 60 สัปดาห์ ผลปรากฏว่ากามโรคไม่ลดสักกลุ่ม จึงมานั่งคิดว่าทำไม คิดไปคิดมา ก็รู้ซึ้งถึงสัจธรรมว่าตำราที่เรียนมา มันผิด เพราะเขาบอกว่าไม่ว่าใครก็ตามที่จะควบคุมกามโรคให้ได้ผล ต้องให้คนเป็นโรคมารักษา เหมือนกับมารักษาวัณโรคทุกอย่าง ซึ่งเราก็ทำ แต่ไม่ได้ผล
เราต้องเข้าใจก่อนว่า กามโรคไม่เหมือนวัณโรค วัณโรคมันมีอาการ ใครเป็นก็ต้องไอ แต่กามโรคไม่ใช่ คนติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่ฟ้อง ต้องตรวจถึงเจอ แล้วเมื่อก่อนเวลาเราควบคุมโรคไม่ได้ ก็มักตีความไปเองว่าที่ไม่ได้ผล เพราะผู้ป่วยไม่มาตรวจทุกสัปดาห์ แต่นี่เราเข้าไปตรวจถึงที่เลย ตรวจทุกคนทุกสัปดาห์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย แต่ก็ไม่ลด เราถึงรู้ว่าแม้จะส่งเสริมการตรวจรักษาเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ผล วิธีที่ดีสุด คือ ค้นหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นดีกว่า
เพราะฉะนั้น เมื่อผมมาทำเรื่องเอดส์อย่างจริงจัง ผมจึงส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันกามโรค แต่อย่างที่ทราบ การประชาสัมพันธ์ให้คนใช้ถุงยางเป็นเรื่องยากมาก คงเหมือนกับเรื่องบุหรี่นั่นละ ถึงจะทำโปสเตอร์ให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว หรือเอาข้อความมาเขียนบนซองว่า มันอันตรายแค่ไหน ก็คงไม่ทำให้คนเลิกสูบบุหรี่สักเท่าไหร่
เรื่องถุงยางก็เหมือนกัน ทำยังไงก็ไม่ได้ผล เพราะไม่มีทางที่หญิงบริการจะไปบอกให้ลูกค้าใช้ถุงยางแล้วลูกค้าจะยอมทำตาม ในเมื่อลูกค้าเป็นคนจ่ายเงิน ผมคิดเรื่องนี้อยู่หลายตลบ จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดความคิดว่า หากเราทำให้ถุงยางให้เป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้เหมือนกับน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะเหมือนเวลาคุณจะติดตั้งของพวกนี้ไว้ที่บ้าน เขาจะมีระเบียบข้อบังคับให้คุณต้องทำตาม เช่นจะติดไฟฟ้าก็ตั้งติด Safety Cut ไม่เช่นนั้นไม่ติดให้ ทั้งที่เราเป็นคนจ่ายเงินแท้ๆ
ดังนั้น เมื่อผมมาคิดเปรียบเทียบดู หากเราสามารถบังคับให้นักเที่ยวต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เวลาไปเที่ยวสถานบริการทุกแห่ง ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ให้เข้า ก็น่าจะช่วยลดการระบาดไปได้บ้าง จากนั้นผมลองไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า ผมมีความคิดแบบนี้นะ น่าจะลองทำดู ปรากฏว่าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า ทำไม่ได้หรอก ใครจะยอมร่วมมือในเรื่องนี้ พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ ผมเลยเก็บเอาไว้ ยังไม่ได้ทำ
แล้วอาจารย์มีโอกาสทำตามความคิดนี้ เมื่อไหร่
ตอนที่ผมย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ เขต 4 ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อปีพ.ศ.2532 ผมไปเสนอคณะกรรมการเอดส์ของจังหวัดว่า ผมมีความคิดแบบนี้สนใจไหม วิธีทำง่ายมากเลย คือ ให้เชิญเจ้าของกิจการสถานเริงรมย์ทั้งหลาย หรือพูดง่ายๆ ว่าเจ้าของซ่อง มานั่งในห้องประชุมแล้วบอกว่า ต่อไปนี้ หญิงบริการทุกคนต้องใช้ถุงยางทุกครั้งกับลูกค้า ใครไม่ทำตามปิดเลย แต่ถ้าใครทำตามรายได้เหมือนเดิม เพราะลูกค้าไม่มีทางเลือก แล้วก็ต้องใช้ถุงยาง
พอเสนอเสร็จทุกคนสนใจ แต่ติดปัญหาตรงที่ผู้ว่าฯ จะยอมหรือเปล่า หากยอมก็ทำได้เลย เผอิญช่วงก่อนที่จะย้ายมา ผมเคยลองศึกษาประวัติของผู้ว่าฯพีระ บุญจริง มาบ้างแล้ว เห็นว่าท่านเป็นคนให้การสนับสนุนงานกามโรคเป็นอย่างดี จึงคิดน่าจะคุยได้ เลยรับไปคุยเอง
พอไปถึงห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัด ผมเล่าเรื่องโครงการให้ท่านฟัง ท่านฟังแล้วก็บอกว่า “ทำไม่ได้หรอกหมอ เวลามีเพศสัมพันธ์เขาทำกันในห้องเล็กๆ คนภายนอกเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาใช้ถุงยางจริงๆ” แต่ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องนี้มานาน ผมก็ตอบเลยว่า ถึงเราไม่ได้เข้าไปดู แต่ผมมีวิธีที่จะตรวจสอบได้อยู่แล้ว 5 วิธี คือวิธีที่ 1 ดูจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยชายที่รับการตรวจกามโรค โดยปกติ ผู้ที่รับบริการตรวจรักษากามโรคในคลินิกกามโรคของรัฐจะได้รับการซักประวัติด้วยคำถาม 3 ข้อคือร่วมเพศครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ กับใคร และใช้ถุงยางอนามัยหรือเปล่า คำตอบที่ได้จะช่วยให้รู้ว่า สถานบริการทางเพศแห่งใดไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
วิธีที่ 2 ดูจากเอกสารการติดตามผู้สัมผัสโรค ความจริงเป็นงานเดียวกับข้อแรก ใช้สำหรับผู้ตรวจกามโรคที่อยู่นอกเขต อย่างเช่น ชายคนหนึ่งจากจังหวัดนครปฐม มาเที่ยวผู้หญิงที่ราชบุรีแล้วกลับนครปฐม เกิดป่วยเป็นกามโรค หน่วยกามโรคที่นครปฐมก็จะส่งแบบฟอร์มการติดตามผู้สัมผัสมาให้หน่วยกามโรคในราชบุรีเพื่อให้ทำการติดตามผู้สัมผัส วิธีนี้จะทำให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานบริการทางเพศที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
วิธีที่ 3 เราส่งคนไปทำตัวเป็นลูกค้าของหญิงบริการ และยืนยันที่จะไม่ใช้ถุงยางอนามัย ถ้าหญิงบริการยินยอมให้บริการโดยไม่ใช้ถุงยาง ก็แสดงว่าไม่ได้ทำตามข้อกำหนดของทางจังหวัด
วิธีที่ 4 ดูจากการป่วยเป็นกามโรคของหญิงบริการ เนื่องจากจังหวัดกำหนดให้หญิงบริการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากตรวจพบเป็นกามโรคก็น่าจะแสดงว่า ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
วิธีสุดท้ายดูจากจำนวนถุงยางอนามัยที่เบิกไปจากหน่วยงานกามโรค หากมีการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้น จำนวนที่เบิกไปก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย
พออาจารย์เสนอเสร็จ ผู้ว่าราชการ ท่านว่าอย่างไร
อนุญาตให้ทำเลย หลังจากนั้น เราจัดประชุมที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง โดยวิธีเชิญเจ้าของสถานบริการเหล่านี้ที่ง่ายสุด คือ ให้ตำรวจเป็นคนเชิญ มากันพรึบ พอมาถึงผู้ว่าฯ ก็ขึ้นพูดเลยว่า “ต่อไปนี้ให้ใช้ถุงยางทุกครั้ง ถ้าลูกค้าไม่ยอมใช้ให้ปฏิเสธไป รับรองลูกค้าไม่มีทางเลือกหรอก เพราะทุกแห่งทำเหมือนกันหมด” ซึ่งระหว่างที่พูดเราก็อัดเทปถ่ายรูปไว้ด้วย จากนั้น ผู้ว่าฯก็ขอความเห็นจากเจ้าของสถานบริการหลายคน เขาบอกว่าไม่มีปัญหาหรอก ถ้าที่อื่นทำ เขาก็ทำ
ก่อนจะเลิกการประชุม ผมก็กระซิบผู้ว่าราชการ ให้ถามเจ้าของว่าใครไม่เห็นด้วยกับนโยบายให้ยกมือขึ้น ปรากฏว่าไม่มีใครยก จากนั้นเราถามต่อว่าแล้ว ใครจะร่วมมือบ้างก็ยกกันหมด เราก็เก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน ว่าทุกคนเอาด้วยนะ เสร็จแล้วเราก็ดีใจกลับบ้านนอน
ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง ปรากฏว่ากามโรคไม่ลดเลย ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และจากการคุยกับหญิงบริการที่มาตรวจ ถึงรู้ว่าเจ้าของได้บอกให้ใช้ แต่ลูกค้าเขาไม่อยากใช้ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ผมก็นั่งคิดว่า สงสัยงานนี้ คงต้องเชิญประชุมหญิงบริการทั่วจังหวัดแล้ว จากนั้นผมไปบอกผู้ว่าฯ ให้ช่วยมาเป็นประธานหน่อย ท่านก็น่ารักมาก มาเป็นประธานให้ ท่านพูดเลยว่า “พวกเราต้องเห็นด้วยนะ ไม่อย่างนั้นเจ้าของจะเดือดร้อน เพราะทุกคนรับปากไว้แล้ว เพราะฉะนั้นหากเราต้องการช่วยเจ้าของไม่ให้โดนปิด ก็ต้องทำตามที่จังหวัดต้องการ” พอทุกคนรับรู้หมดก็ทำตาม ไม่กี่วันเองกามโรคในผู้หญิงหายไปเกือบหมด
แต่ที่น่าแปลก คือ กามโรคในผู้ชายกลับไม่ลด ผมก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้ยังไง สอบถามผู้ป่วยกามโรคถึงรู้ว่า ที่ป่วยนี่เป็นเพราะเขาไปเที่ยวในจังหวัดข้างเคียงอย่างนครปฐม คงเป็นเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าเที่ยวผู้หญิง
พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ ผมเกิดความคิดว่าต้องขยายพื้นที่แล้ว เอาแค่จังหวัดเดียว คงไม่ได้ผลเท่าที่เดิม ซึ่งวิธีแรกที่เราทำ คือ ขยายแนวคิดให้ออกไปมากที่สุด และด้วยความที่ผมเคยเป็นผู้อำนวยการกองโรคเอดส์มาก่อน จึงมักถูกเชิญเป็นวิทยากรในงานประชุมอยู่บ่อยๆ ผมเลยถือโอกาสตรงนี้ นำเสนอแนวคิดนี้แทบทุกงาน ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจเลย ยกเว้นพิษณุโลก
หลังจากเห็นว่าวิธีเก่าคงไม่ได้ผล ผมก็เปลี่ยนมาเป็นการหาแนวร่วมแทน โดยผมพยายามหาทางให้นักวิชาการคนอื่นๆ มาร่วมช่วยกันเผยแพร่โครงการนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วยกัน พูดจนหลายคนเบื่อแล้วไม่สนใจ ผมจำได้ว่าตอนนั้นถึงกับมีผู้อำนวยการอาวุโสคนหนึ่งพูดว่า “อย่าพูดเรื่องนี้อีกเลย ฟังแล้วจะอ้วก” มีเพียงคุณหมอสำเริง แหยงกระโทก จากอุบลราชธานีคนเดียวเท่านั้นที่แสดงความสนใจและรับไปทำ
พอชักจูงพวกเดียวกันไม่สำเร็จ ผมก็เล็งไปที่กลุ่มสามพราน ที่มีอาจารย์ประเวศ วะสี กับกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นแกนหลัก พอพูดเสร็จคนอื่นเขาไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าจะทำได้ แต่ไม่ถึงกับคัดค้าน เพียงแต่บอกว่า ถ้าคิดว่าทำได้ ก็ขอให้ทำไป แล้วจะเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ
เมื่อขยายแนวคิดและหาแนวร่วมไม่สำเร็จ ผมเปลี่ยนวิธีมาเดินสายขายตรงแทน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ว่าควรหลีกเลี่ยงบรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพราะล้วนเป็นผู้ทรงความรู้ ยากที่จะโน้มน้าวใจได้ ทางที่ดีต้องขายความคิดให้แก่ผู้อยู่นอกวงการแพทย์ และต้องเป็นผู้ที่สามารถสั่งหมอได้อีกต่อหนึ่ง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกรรมการเอดส์จังหวัด โดยเริ่มแรกผมเริ่มทำโครงการในจังหวัดที่ตัวเองรับผิดชอบก่อน คือ เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์
พอดีช่วงนั้นที่สมุทรสาคร กำลังเจอปัญหาการฟ้องร้องเนื่องจากผู้ติดเชื้อจากการรับเลือด ผู้ว่าฯ เลยสนใจเรื่องเอดส์มาก ผมก็เอาแนวคิดเกี่ยวกับโครงการไปเสนอ จนในที่สุดเขารับไปทำ และผลที่ออกมาน่าพอใจมาก เพราะภายใน 3 เดือน อัตราผู้ป่วยกามโรคในผู้หญิงลดลงจาก 13% เหลือ 0.5% เท่านั้น เมื่อที่สมุทรสาครสำเร็จ การเสนอแนวคิดก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนเห็นแล้วว่าจะทำได้ผล จนในที่สุดก็มีจังหวัดเข้าร่วมโครงการนี้ถึง 13 จังหวัด
หลังจากนั้น อาจารย์ทำอย่างไรให้โครงการนี้ขยายไปได้ทั่วประเทศ
พอทำได้อย่างนี้ ผมคิดว่า หากจะไปกระซิบตามจังหวัดต่างๆ จนครบทุกจังหวัด คงเป็นไปไม่ได้ ทางที่ดีควรให้กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งมาดีกว่า ผมก็พยายามเสนอความคิดนี้กับ นพ.อุทัย สุดสุข ปลัดกระทรวง แต่หาโอกาสไม่ได้สักที
จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเรื่องผลกระทบของโรคเอดส์ ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายของการประชุมกองโรงพยาบาลภูมิภาค และด้วยความบังเอิญมากที่ระหว่างที่กำลังอภิปรายอยู่นั่น ปลัดก็เดินเข้ามาเพื่อรอปิดงาน ระหว่างที่ผมต้องสรุปจบ ก็ได้ทีพูดว่า งานนี้คงไม่มีทางออกอื่นนอกจากต้องใช้ถุงยางอนามัย 100% แล้วอธิบายวิธีการสั้นๆ
หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้น มีคุณหมอสุรินทร์ พินิจพงษ์ เป็นประธานคณะทำงานเสนอให้นำเข้าคณะกรรมการเอดส์ระดับชาติ ช่วงนั้นการทำงานลำบากมาก บางคนเขาไม่เอาด้วย เพราะรับไม่ได้ที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เราก็ต้องมาล็อบบี้กันหนักว่าช่วยไปก่อนแล้วกัน เพราะจะรอให้หญิงบริการหมดประเทศ คงต้องใช้เวลาอีกนาน ในที่สุดคณะกรรมการเอดส์ชาติมีมติออกมาให้ทำโครงการนี้ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534
เมื่อเป็นโครงการระดับประเทศแล้ว ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
เห็นชัดมากเลย กามโรคลดแบบฮวบฮาบ จากปีหนึ่ง 3-4 แสนราย เหลือแค่หมื่นกว่าเท่านั้น เรียกได้ว่าไม่มีประเทศไหนทำได้ขนาดนี้ ส่วนเอดส์ก็ค่อยๆ ลด เพราะการตรวจเอดส์มันไม่ไวพอที่จะวัดว่ามันลดลง เราต้องติดตามผลไปอีก 2-3 ปี จึงเห็นว่าโรคมันเริ่มลดลง โดยเฉพาะหญิงบริการ ผู้ชายที่มาตรวจ ลดลงทุกกลุ่ม เว้นแต่กลุ่มที่ฉีดยาเสพติดเท่านั้นที่ไม่ลด มีแต่เพิ่มขึ้น
อาจารย์เคยท้อหรือถูกคนมองว่า บ้าบ้างไหม เพราะวันๆ สนใจแต่เรื่องถุงยางอนามัย
เขาบอกไอ้นี่เป็นอะไรหรือเปล่า หายใจเข้า-ออกเป็นถุงยางอนามัย มีหมอคนหนึ่งเคยมาขอร้องผมว่า “พี่วิวัฒน์ เวลาพี่พูดอะไรคนเขาฟัง เพราะฉะนั้นขอร้องเถอะพี่อย่าพูดเรื่องถุงยางอนามัยได้ไหม เปลี่ยนไปพูดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความรับผิดชอบอย่างไม่เปลี่ยนคู่นอนแทนทีเถอะ” ผมบอกคงยากละ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญ มันเกี่ยวกับชีวิต ถ้าไม่ใช้ถึงตายได้เลยนะ แล้วที่ผ่านมาเราก็ทำได้ผล ทั่วโลกเขาก็พยายามส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย แต่ไม่มีที่ไหนทำสำเร็จเลย น่าแปลกที่เราทำสำเร็จ คนกลับไม่เห็นด้วย
หลังจากทำโครงการนี้ ในประเทศไทยสำเร็จ อาจารย์มีวิธีอย่างไร ให้คนอื่นนำโครงการนี้ไปใช้ในระดับสากลได้
พอคนอื่นเห็นว่าเราทำสำเร็จ ก็มีคนสนใจมากขึ้น ประกอบกับเวลามีการประชุมต่างๆ ผมไปพูดตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2539 มีฝรั่งเข้ามาดูว่า สิ่งที่เราทำมันได้ผลจริงหรือเปล่า ซึ่งเขาสรุปผลออกมาว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2534-2538 เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไปแล้วกว่า 2 ล้านราย จากนั้นเขาเอาไปรายงานต่อที่งานเอดส์นานาชาติ ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมาก ยิ่งตอนหลังเราได้นำความสำเร็จของเราไปลงในวารสารเอดส์ฉบับเดือนมกราคม 2539 เป็นเรื่องแรกเลยนั้น ทางสหประชาชาติ ก็ติดต่อขอเข้ามาดูงานกันเต็มไปหมด
แต่มีปัญหาเหมือนกันนะตรงที่เวลาผมบรรยายเสร็จ ผมมักถามคนฟังว่ามีความเห็นว่าอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ ทำให้ผมท้อแท้มากเลย เขาบอกว่าเมืองไทยทำได้ เพราะเรามีตำรวจดี คนมีความรู้ แถมยังมีนักรณรงค์ถุงยางอนามัยระดับโลกออกมารณรงค์ให้ ทำแบบนี้ชาวบ้านก็ใช้กันสิ ประเทศอื่นทำไม่ได้หรอก โครงการแบบนี้ต้องประเทศไทยเท่านั้น ผมรีบบอกเขาว่าไม่จริงหรอก เพราะเวลาเรารณรงค์เรื่องอื่น ไม่เห็นมีคนตามเลย อย่างบุหรี่ หรือเหล้า และยิ่งเราไปคิดอย่างนี้ เราทำไม่ได้บ้างล่ะ เราไม่มีความรู้บ้างล่ะ ก็จะยิ่งทำไม่ได้ผล ซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งผมเข้าไปเริ่มโครงการในประเทศกัมพูชา และแก้ปัญหาได้สำเร็จ ประเทศอื่นๆ ถึงสนใจทำตามบ้าง
แล้วตอนนั้นอาจารย์เข้าไปทำในกัมพูชาได้อย่างไร
ตอนนั้นโรคเอดส์เขาระบาดหนักมาก เขาก็ขอความช่วยเหลือไปที่องค์การอนามัยโลกว่าให้ช่วยหน่อย เพราะไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ทางอนามัยโลกเขาเห็นว่า ที่เมืองไทยมีคนทำเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น พอมีประชุมเอดส์นานาชาติของเอเชีย เมื่อปีพ.ศ.2540 เจ้าหน้าที่ของอนามัยโลกคนหนึ่งที่รู้จักผม เขาเลยมาบอกว่า “ดร.วิวัฒน์ คุณช่วยหาคนไทยให้คนสักคนหนึ่งซิ จะเชิญไปเขมร 3 เดือน ทำเรื่องถุงยางอนามัย 100% หาคนให้หน่อย”
ผมก็คิดว่า แล้วจะไปหาใครที่ไหน เพราะคนที่รู้เรื่องนี้มีไม่กี่คน ผมเลยบอกเอาอย่างนั้นแล้วกัน ผมไปช่วยได้ แต่ว่าให้ไป 3 เดือนคงไม่ได้ เพราะว่าผมเป็นข้าราชการ ขอไปเป็นช่วงๆก็แล้วกัน เขาตกลง ผมจึงบินไปกลับเขมรตั้งแต่ช่วงเมษายน 2540 จนถึงเมษายนในปีถัดมา โดยตอนนั้นเราไปทดลองทำที่จังหวัดกำปงโสม ปรากฏว่าทำแล้วได้ผล โรคลดลง ทางกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาเลยเชิญปลัดกระทรวง 11 กระทรวงไปที่กัมปงโสมดูงาน ดูเสร็จเขาก็บอกว่าอย่างนี้ต้องทำทั่วประเทศ จากนั้นเขาทำเรื่องไปที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น ให้เซ็นคำสั่งให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดทำโครงการนี้
หลังจากที่กัมพูชาทำสำเร็จ ไปรายงานประชุมเอดส์ในนานาชาติ เมื่อปีพ.ศ.2543 ที่เดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ เขาก็สงสัยว่าเขมรทำได้อย่างไร จากนั้นมีคนอินเดียคนหนึ่งเขียนลงอินเตอร์เน็ตบอกว่า เป็นเพราะถุงยางอนามัย 100% จึงทำให้ประเทศอื่นเริ่มสนใจมากขึ้น ทั้งจีน เวียดนาม พม่า มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ และลาว ซึ่งแต่ละประเทศก็ไม่ได้ทำง่ายๆ นะ ใช้เวลานานมาก
อาจารย์ทำเรื่องเอดส์มาก็เยอะ อยากทราบหากมีโอกาสกลับไปแก้ไขสิ่งที่ทำมาสักเรื่องหนึ่ง อาจารย์จะกลับไปแก้ไขเรื่องอะไร
ไม่รู้จะแก้ตรงไหน เพราะผมมองว่ามันต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพราะหากเราไม่มีสถานการณ์อย่างคนติดเชื้อนับล้าน การแก้ปัญหาคงไม่เกิดขึ้น เพราะเราคงไม่สามารถทำให้คล้อยตามได้ ลองคิดดูหากจีนไม่มีการระบาดของเอดส์จากการบริจาคเลือด เขาจะมีการตรวจเลือดทุกถุงเหรอ หรือเขาจะยอมให้มีการเปลี่ยนเข็มในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดเหรอ เพราะฉะนั้นถึงย้อนเวลากลับไปได้จริง คงไม่สามารถแก้อะไรได้มากนัก คงต้องเป็นแบบนี้ละ
แต่สิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาที่สุด คือ ปัจจุบันถุงยางอนามัยไม่ได้แจกฟรีแล้ว เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเมื่อก่อนรัฐบาลจ่ายเงินซื้อถุงยางอนามัยเพียง 60 ล้านบาทซื้อถุงยางอนามัยมาแจกจ่าย แต่ช่วยป้องกันกามโรคได้เป็นแสนราย ประหยัดค่ายารักษากามโรคปีละ 72 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมเงินอีกเป็นร้อยกว่าล้านที่ต้องไปซื้อยารักษาโรคเอดส์นะ แต่ปัจจุบันนี้รัฐบาลไม่ได้ซื้อถุงยางอนามัย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ไม่มีศักยภาพที่จะทำให้กระทรวงการคลังเห็นคล้อยตามได้ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งรองอธิบดีกรมควบคุมโรคเดินสวนกับผม แล้วเขาก็บอกว่า “วิวัฒน์มาพอดี เนี่ยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลัง เขามาคุยเรื่องงบประมาณ แล้วเขาอยากจะลดเงินเรื่องถุงยางอนามัย วิวัฒน์ว่าไง” ผมก็อธิบายเขาฟังว่า หากเราจ่ายเงินซื้อถุงยางอนามัยปีละ 60 ล้าน เราจะสามารถประหยัดเงินได้ปีละหลายร้อยล้านเลยนะ เขาก็แปลกใจ เพราะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นเขายินดีจะจ่ายต่อ แต่เสียดายที่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอายุเยอะแล้ว ปีต่อมาท่านก็เกษียณ พอคนใหม่มาก็เปลี่ยนใหม่ ไม่ซื้อแล้ว
พอไม่ซื้อ ประชาชนส่วนหนึ่งเขาโอเค ซื้อเองก็ได้ แต่ว่าหญิงบริการบางคนที่เขาเคยรับฟรี พอไม่ได้ ก็รู้สึกไม่อยากซื้อ พอไม่ซื้อก็กลายเป็นอันตราย เพราะโรคอย่างเช่น กามโรค หนองใน เอดส์มันกลับมาอีก ผมคิดว่า จริงๆ แล้วหากรัฐยอมทุ่มทุนสักหน่อย เวลาตัดถนน แล้วลดลงไปสักกิโลเมตรหนึ่ง เอาเงินมาจ่ายตรงนี้ คงจะสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้มากขึ้น
ที่มา : หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย, อมรินทร์พริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553
- 459 views