ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการตอบโต้กันระหว่างรัฐบาลซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวแทนกับกลุ่ม อุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของภาครัฐ คือ โรงงานยาสูบที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันมาตรการควบคุมยาสูบอย่างหนักหน่วงมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่จากขนาดเดิมร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่ซอง อีกทั้งยังห้ามกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และกีดกันการติดต่อพูดคุยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับเจ้าหน้าที่ รัฐ มาตรการเหล่านี้ยังมีผลบังคับใช้กับโรงงานยาสูบด้วยเช่นกัน
กฎระเบียบภาพคำเตือนสุขภาพกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรง เมื่อผู้ค้าปลีกและผู้นำเข้า ได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครอง โดยให้เหตุผลว่า การออกกฎระเบียบดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้โอกาสให้กลุ่มอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมสอบถาม หรือแสดงความเห็น หรือพูดคุยก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ กล่าวว่า เหตุผลของการออกกฎหมายนี้เพราะต้องการให้ประเทศไทยมีการใช้ภาพคำเตือนสุขภาพ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย นพ.ประดิษฐยังกล่าวด้วยว่ากฎหมายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีก และจะไม่มีการพูดคุยใดๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้กับผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
การออกระเบียบดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งกันเองในหน่วยงานรัฐบาล กล่าวคือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สังกัดกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นพ.ประดิษฐโดยชี้แจงว่า กฎหมายใหม่ดังกล่าว ขัดต่อกฎระเบียบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการละเมิดกฎหมายเครื่องหมายการค้าและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ต่างๆ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนพิจารณากฎหมายภาพคำเตือนนี้ใหม่
ด้านนักรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ได้กล่าวว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะหยุดไม่ให้คนสูบบุหรี่ เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้ยาสูบ โดยนางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน ได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.5% ของจีดีพี และยังกล่าวด้วยว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 50,700 คน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2543 เป็นต้นมา อัตราการสูบบุหรี่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย โดยมีอัตราคงที่อยู่ที่ร้อยละ 18.5 คงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขทราบถึงมาตรการควบคุมการใช้ยาสูบที่มีประสิทธิภาพจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่บอกได้ชัดเจนจากการยื่นฟ้องจากผู้ค้าปลีกคือ การกระทำของกระทรวงสาธารณสุขได้สร้างภาระ และเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่อุตสาหกรรมอย่างมหาศาล
ด้วยเหตุผล ในเรื่องพิษภัยจากการสูบบุหรี่ และความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์นี้ที่เกิดขึ้น ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่เราควรตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่งคือ ในด้านหนึ่ง รัฐบาลกำลังทำทุกวิถีทางที่จะทำให้คนหยุดสูบบุหรี่ แต่ในขณะเดียวกัน ขาอีกข้างของรัฐบาลก็ยังอยู่ในธุรกิจของการทำตลาด และขายบุหรี่ผ่านหน่วยงานของตัวเอง ซึ่งก็คือโรงงานยาสูบด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าการเสแสร้งหรอกหรือ รัฐบาลควรที่จะเลือกตัดสินใจที่จะเลิกธุรกิจยาสูบหรือ เลือกที่จะหยุดโจมตีหน่วยงานของตัวเองเสียที เพราะการกระทำทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไปเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลาและเสียเงินโดยใช่เหตุ
อย่างไรก็ดี เมื่อมาดูถึงตัวเงินรายได้แล้ว นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าขายผลิตภัณฑ์ที่คร่าชีวิตผู้คนต่อไป ตามข้อมูลของกรมสรรพสามิต ประเทศไทยมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบสูงถึงเกือบ 60,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2555 และโดยจำนวน 72,000 ล้านบาทเป็นรายได้จากการขายยาสูบ โดยตัวเลขรายได้นี้คาดว่าจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกในปี 2556 นี้ แน่นอนว่ารายได้ส่วนใหญ่ในก้อนนี้มาจากการขายผลิตภัณฑ์ของโรงงานยาสูบ เนื่องจากโรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงกว่าร้อยละ 75
เมื่อพิจารณาถึงความต้องการรายได้จากภาษีที่มีมากขึ้นๆ ของรัฐบาลเพื่อนำไปบริหารจัดการโครงการต่างๆ อาทิ การรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการประชานิยมต่างๆ อีกมากมาย ก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลยังคงทำธุรกิจขายบุหรี่ต่อไป แต่น่าคิดว่า อาจจะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐบาลจะแปรรูปโรงงานยาสูบให้เป็นหน่วยงานเอกชนไปเสีย และนำตัวเองออกจากธุรกิจยาสูบโดยสิ้นเชิง อันที่จริงประเทศไทยอาจจะได้ประโยชน์ทางการเงินมากขึ้นไปอีกด้วยการขายรัฐ วิสาหกิจนี้ให้เอกชน เช่นเดียวกับที่หลายประเทศในยุโรปหรือเอเชียได้ทำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานยาสูบให้เป็นเอกชนเต็มตัวของเกาหลี หรือให้เอกชนเข้ามามีหุ้นในบางส่วนอย่างในกรณีของญี่ปุ่น
แต่ถ้ารัฐบาลไทยไม่สามารถขายโรงงานยาสูบได้จริงๆ และกระทรวง สาธารณสุขก็ไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ รัฐบาลก็ควรที่จะหยุดยั้งไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขโจมตีโรงงานยาสูบด้วยกฎ ระเบียบมากมายแต่ไร้ประสิทธิภาพ ที่มีแต่จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและทำให้รายได้รัฐบาลหดหายเสียที เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และการเลือกดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ ล้วนแต่จะเป็นการกระทำที่เสแสร้งทั้งนั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 2 สิงหาคม 2556
- 210 views