นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล ว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งเป้าฉีดทั้งหมด 3.5 ล้านคน เริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม-30 กันยายน 2556 โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อป่วยแล้วจะเจ็บป่วยรุนแรง 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่กำจัดสัตว์ปีก และกลุ่มที่ 2 คือประชาชน 4 กลุ่ม มี 1.กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 2.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 3.กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี และ 4.ผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ล่าสุด ได้กระจายฉีดวัคซีนแล้ว 1,232,576 คน/โดส คาดว่า จะฉีดครบตามเป้าหมาย และกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในกรณีที่พ้นเดือนกันยายน แต่ไม่เกินธันวาคม ก็ยังสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงระบาดอยู่ และยังไม่หมดอายุแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนดังกล่าวมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจนส่งผลต่อชีวิตหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ปกติไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากมีเคสน่าสงสัย สธ.มีมาตรการในการเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีน 4 สัปดาห์ หากพบสิ่งผิดปกติจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น โดยญาติสามารถร้องไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปจะมีข้อห้ามใน 5 กลุ่ม คือ 1.เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน 2.ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือสารประกอบอื่นๆ หรือแพ้ไข่ไก่ แพ้ไก่อย่างรุนแรง 3.ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีไข้ 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระยะกำเริบ และ 5.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์น้อยกว่า 4 เดือน หรือมีภาวะครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการจัดส่งวัคซีนของ คร.มีความล่าช้าจนต้องยืมวัคซีนจาก สปสช. นพ.โอภาสกล่าวว่า เป็นเรื่องการบริหารจัดการ แต่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มก็ได้รับวัคซีน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 สิงหาคม 2556
- 2 views