กรมอนามัยชี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เคลื่อนไหวร่างกายน้อยเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง เล็งขยาย'คลินิกไร้พุง'ทั่วประเทศ ตั้งเป้าปรับพฤติกรรมด้วย 3อ. 2ส.
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแบบบูรณาการ" ว่า จากรายงานสถิติสุขภาพทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก ปี 2555 พบว่า 1 ใน 10 ของประชาชนวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และ 1 ใน 3 มีภาวะความดันโลหิตสูง กรมอนามัยจึงมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 3อ. 2ส. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่ดื่มสุรา และไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ได้ร่วมกับ สำนักโภชนาการ เปิดโครงการพัฒนาคลินิกไร้พุง (DPAC : Diet & Physical Activity Clinic) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยกระบวนการ 3 อ. โดยผู้เข้ารับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
"ขณะนี้ร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องมาจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อวิถีชีวิต ก่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น กินหวาน มัน เค็มมากเกินไป มีการเคลื่อนไหวทางกายน้อย และขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงเครียดจนเกิดภาวะอ้วนลงพุง" นพ.ณรงค์กล่าว และว่า ล่าสุด กรมอนามัยได้สำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทย พบว่าประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 มีกิจกรรมทางกายต่ำ และหากพิจารณาเฉพาะการออกกำลังกายพบว่า ผู้ใหญ่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที ร้อยละ 22-24 และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ออกกำลังกายเพียงพอต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้หันมาใส่ใจการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่าง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการออกกำลังกายในวัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก และควรหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อให้ร่างกายได้รับการรักษาและฟื้นฟูในส่วนที่สึกหรอจากการทำงาน
นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดตั้งคลินิกไร้พุง สู่เป้าหมายสถานบริการทุกระดับในสังกัด สธ. ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ดำเนินงานได้ร้อยละ 78 จากเป้าหมายร้อยละ 80 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดำเนินงานได้ร้อยละ 41 จากเป้า ร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม เตรียมจะขยายเพิ่มสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 กรกฎาคม 2556
- 19 views