ปัญหาการจัดซื้อ "ยาโคพิโดเกรล" หรือ "ยาละลายลิ่มเลือดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง" ของทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตาอีกครั้ง ภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน ได้พบความผิดปกติการจัดซื้อยา เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งซื้อยาล็อตนี้จากบริษัทยาแห่งหนึ่งประมาณ 1 ล้านเม็ด ในปี 2553 ด้วยเม็ดเงินถึง 12 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการจำหน่ายออกไป พร้อมกันนี้ยังพบว่ายังเป็นยาที่ใกล้หมดอายุ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น และยังพบการฉีกขาดของบรรจุภัณฑ์
ทำให้ที่ผ่านมาทางองค์การเภสัชกรรมจึงเสนอขอคืนและแลกเปลี่ยนยาล็อตใหม่กับทางบริษัทที่จำหน่าย พร้อมกันนี้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนเรื่องนี้เพื่อดูว่า กรณีที่เกิดขึ้น ต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะหากไม่สามารถจำหน่ายยาล็อตนี้ออกไปได้
ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับประจวบเหมาะกับสต็อกยาโคพิโดเกรลที่เป็นยาสามัญของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจ่ายให้กับผู้ป่วย 3 กองทุนสุขภาพใกล้จะหมดลง เหลืออีกเพียงแค่ 500,000 เม็ด เพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ 2 สัปดาห์ สาเหตุมาจากการจัดส่งยาที่ล่าช้าของทางบริษัทยาสามัญแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้แทนจัดซื้อ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้อำนาจการองค์การเภสัชกรรม ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เรื่องการจำหน่ายยาโคลพิโดเกรลล็อตดังกล่าว โดยระบุว่า
"เนื่องจากยาโคพิโดเกรลล็อตจำนวนประมาณ 1 ล้านเม็ดที่ใกล้หมดอายุลง ทางบริษัทยาได้นำมาเปลี่ยนให้กับองค์การเภสัชกรรมแล้ว ขณะเดียวกันยาโคลพิโดเกรลซึ่งเป็นยาซีแอล ซึ่งทาง อภ. สั่งซื้อจากบริษัทยาประเทศอินเดียมาจำหน่ายให้กับ สปสช.ไม่สามารถส่งของตามกำหนดได้ทัน โดย อภ. มีสัญญาซื้อกับบริษัทอินเดีย 18 ล้านเม็ด ส่งมอบงวดแรก 8 ล้านเม็ด ในวันที่ 16 มิถุนายน 2556 ทำให้ในขณะนี้ไม่มียาในระบบวีเอ็มไอ ที่จะจ่ายให้หน่วยบริการได้ สปสช.จึงแจ้งให้ อภ. เสนอราคาขายยาโคลพิโดเกรลที่มีอยู่ในราคาทุน เม็ดละ 12.41 บาท เพื่อที่ สปสช.จะได้พิจารณาสั่งซื้อต่อไป"
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตในความบังเอิญ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดทำไมองค์การเภสัชกรรมในฐานะตัวแทนจัดซื้อยา จึงปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทั้ง สปสช.ยังต้องใช้เงินภาษีประชาชนจัดซื้อยาในราคาแพงจากเดิมหลายเท่า
ล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศชัดว่า เรื่องนี้ต้องหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทำให้ สปสช.ต้องจัดซื้อยาโคพิโดเกรลราคาแพงขึ้น จากเดิมที่เคยจัดซื้อในรูปยาสามัญเพียงเม็ดละ 2 บาท เป็นราคา 12 บาท และได้กำชับประธานองค์การเภสัชกรรมให้ไปดูในส่วนผู้รับผิดชอบว่า ทำไมปล่อยให้เกิดปัญหายาขาดสต็อกได้ทั้งที่ยาควรมีการนำเข้ายามานานแล้ว แต่กลับปล่อยให้เกิดปัญหายาขาดจนต้องรีบแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการซื้อยาในราคาที่แพง
พร้อมกล่าวย้ำว่า "ไม่อยากให้เป็นเหมือน สปสช. องค์การเภสัชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข นำผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน เพื่อเป็นข้ออ้างว่าต้องซื้อยาแพง ทั้งที่เงินเหล่านี้ล้วนเป็นภาษีของประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องมีผู้รับผิดชอบ และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางองค์การเภสัชกรรม ได้หารือกับทาง สปสช. เพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ เบื้องต้นทาง สปสช. ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรมกลับไปหารือภายใน และเรียกบริษัทยาประเทศอินเดียมาพูดคุยเพื่อเร่งจัดส่งยาโดยเร็ว คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้
จากนี้คงต้องจับตามว่า ทางออกของปัญหายาโคพิโดเกรลขาดสต็อกจะเป็นอย่างไร รวมถึงยาโคพิโดเกรล 1 ล้านเม็ด ที่ยังคงค้างอยู่ในสต็อกองค์การเภสัชกรรม...!!--จบ--
- 10 views