นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าวรณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลก ประจำปี 56 ภายใต้คำขวัญ "ไวรัสตับอักเสบบี รู้ทัน ป้องกันรักษาได้" ว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก พบว่าประชากรกว่า 240 ล้านคนทั่วโลก ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงถึง 600,000 รายต่อปี องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกว่า ให้ทุกประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบอย่างบูรณการ และกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบบีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับ ผ่านมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ เช่น สนับสนุนการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ การให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กเล็กและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง สนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการป่วยตาย และผลักดันให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองเพื่อให้ได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันเวลา

สำหรับการณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลกปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดทุกแห่งจัดสัปดาห์รณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลกขึ้น ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค.56 โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบีแก่ประชาชน และบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแก่ประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่ไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตน ได้รับบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ด้าน น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนไทย โดยคาดว่าคนไทยประมาณ 1-2 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับราว 250,000 คนในอนาคต สำหรับไวรัสตับอักเสบบีนั้น มีวิธีการติดเชื้อคล้ายกับไวรัส HIV คือ ติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าการติดเชื้อ HIV ถึง 100 เท่า และมีอัตราการติดสูงกว่าการติดเชื้อ HIV ในคนไทย ถึง 5 เท่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 29 กรกฎาคม 2556