28ก.ค.56 ที่สำนักงานพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ (International Health Policy Program) ในเวทีเสวนา“ทุนอุปถัมภ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวงการกีฬา” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ดร.เคอร์รี่ โอบราน ผู้อำนวยการด้านหน่วยวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยข้อมูลผลวิจัย “สปอนต์เซอร์ชิพที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวนักกีฬาและทีมกีฬา” โดยศึกษาในประเทศออสเตรเลียในช่วง 6 เดือน ม.ค.-มิ.ย.พบว่า ในประเทศออสเตรเลียมีนักกีฬาที่มีความรู้สึกอยากตอบแทนแบรนด์ที่สนับสนุน และที่น่าตกใจคือนักกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนมีโอกาสที่จะดื่มยี่ห้อนั้นประมาณ 67% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุน
ดร.เคอร์รี่ กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่าเยาวชน อายุ 12 ปี ที่ดูกีฬามีความสัมพันธ์กับการดื่ม โดยเด็กกลุ่มดังกล่าว มีการดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น 20% นอกจากนี้ การสนับสนุนกีฬาของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังส่งผลทำให้ การฝังลึกของความเชื่อในการเชื่อมระหว่าง กีฬาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อกล่าวถึงกีฬาจะคิดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันที นอกจากนี้ยังพบว่าเกินครึ่ง หรือ 60-80% ธุรกิจแอลกอฮอล์จะทุ่มทุนไปกับการโฆษณา
ดร.เคอร์รี่ กล่าวอีกว่า เยาวชนในปัจจุบันมีความเสี่ยงในการเปิดรับโฆษณาแอลกอฮอล์รวมถึงการสนับสนุนจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากหลักฐานทางวิชาการชี้ให้เห็นว่า การเปิดรับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสนับสนุนกีฬาจากอุตสาหกรรมสุราจะส่งผลต่อการดื่มของเด็กและเยาวชน ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้คือ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการกระตุ้นเยาวชนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการสนับสนุนกิจกรรม ที่น่าห่วงคือ ธุรกิจดังกล่าวยังนำภาพเซ็กซี่มาแสดงเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากลอง จึงขอฝากว่าทำธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ควรใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ดึงเยาวชนตกเป็นกลุ่มเป้าหมาย”
ดร.เคอร์รี่ กล่าวถึงมาตรการสำคัญอย่างการเก็บภาษีในประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นประสบการณ์เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงรับสปอนเซอร์จากธุรกิจแอลกอฮอล์ว่า ประเทศออสเตรเลียบางรัฐมีการเก็บภาษีไปสนับสนุนวงการกีฬาโดยตรง ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องไม่รับเงินสปอนเซอร์จากภาคธุรกิจแอลกอฮอล์ โดยมีการมาตรการทางภาษีหรือเรียกว่า Tax from Alcopops ทั้งนี้รัฐบาลออสเตรเลียได้วางภาษีพิเศษเกี่ยวกับ Alcopops หรือคนไทยรู้จักในนามสุราหน้าเด็ก หมายถึงเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งเทียบเคียงด้วยรสชาติน้ำหวานและผลไม้แต่ที่แท้คือสุราเต็มตัวซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่าเบียร์ โดยจะนำเงินไปสนับสนุนหน่วยงานรัฐที่เรียกว่า Australian National Preventative Health Agency (ANPHA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันสุขภาพและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสุขภาพชาวออสเตรเลียทั้งหมด เพื่อพัฒนาวงการกีฬาโดยไม่ต้องรับการสนับสนุนจากฝั่งธุรกิจแอลกอฮอล์
“ข้อจำกัดของกฎหมายยังมีความอ่อนแอ ทั้งเรื่องนโยบายและการบังคับใช้ โดยเฉพาะการจำกัดการโฆษณาในช่วงเวลาที่เด็กดู เช่น ออสเตรเลียมีการแบนโฆษณา แต่กลับยอมให้มีการถ่ายทอดสดกีฬา ที่กระตุ้นให้เด็กดื่ม และจากการศึกษาหลังสองทุ่มครึ่งยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังชมโฆษณา ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้และต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อให้มีประสิทธิภาพ องค์กรหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขควรเป็นผู้นำในการทำงานด้านนี้ นอกจากนี้การบังคับใช้จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สิ่งสำคัญคือ หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง จะช่วยลดการดื่มได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และกลุ่มนักดื่มหนัก” นักวิจัย กล่าว
ที่มา: http://www.naewna.com
- สำนักงานพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ(International Health Policy Program)
- ทุนอุปถัมภ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวงการกีฬา
- ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.)
- เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
- เคอร์รี่ โอบราน
- หน่วยวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ประเทศออสเตรเลีย
- สปอนต์เซอร์ชิพที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวนักกีฬาและทีมกีฬา
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กีฬา
- 52 views