ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา รพ.สุราษฎร์ธานี ชี้หมอจบใหม่ 90% ไม่ลาออกถ้าทำงานในบ้านเกิด พบปัญหาทุนเรียนต่อเฉพาะทางในพื้นที่ไม่เพียงพอ
พญ.วิญญู กิ่งวงษา ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับนักเรียนตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือซีเพิร์ด (CPIRD) ที่เป็นเด็กมีภูมิลำเนาใน จ.ชุมพร ระนองและสุราษฎร์ธานี และโครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 คนหรือโอดอด (ODOD) เป็นเด็กจากอำเภอต่างๆ ใน จ.สุราษฎร์ธานี มาเรียนแพทยศาสตร์ชั้นคลินิกหรือชั้นปี 4-6 ส่วนชั้นปีที่ 1-3 เรียนที่ มธ. ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาแพทย์ 2 โครงการรวมกัน 30 คน ซึ่งในแต่ละปีโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีจะมีทุนเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาต่างๆ เช่น กุมารแพทย์ อายุรกรรมหัวใจ อายุรกรรมโรคปอด เป็นต้น เพื่อให้แพทย์จากโครงการนี้ไปเรียนต่ออย่างน้อยสาขาละ 1 ทุน แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีจะได้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางไม่เกินปีละ 20 ทุน ขณะที่นักศึกษาแพทย์จบปีละ 30 คน ซึ่งไม่เพียงพอ และเชื่อว่าในพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาน่าจะมีปัญหาคล้ายกัน
"ปัญหาคือ นักศึกษาที่ต้องการได้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีแล้วไม่ได้ ก็ต้องไปหาทุนจากที่อื่น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด หากมีโอกาสได้ทุนในพื้นที่เมื่อจบเป็นแพทย์เฉพาะทางก็จะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอยู่ในพื้นที่ ทำให้โอกาสที่แพทย์จะทำงานอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาสูงขึ้น การเคลื่อนย้ายก็จะน้อยลง แต่หากแพทย์ไปได้ทุนเฉพาะทางในพื้นที่จังหวัดที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา เมื่อจบก็ต้องไปใช้ทุนในพื้นที่ที่ได้ทุน โอกาสที่จะกลับมาทำงานในพื้นที่ภูมิลำเนาจะน้อย" พญ.วิญญูกล่าว และว่า ทั้งนี้ จากการประเมินแพทย์ตามโครงการดังกล่าวพบว่าอัตราการคงอยู่ในพื้นที่ของแพทย์จบใหม่ 3 ปีแรกสูงถึงร้อยละ 80-90 ส่วนในระยะยาวหากแพทย์เรียนจบแล้วจะยังคงอยู่พื้นที่ในอัตราเท่าไหร่ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะศูนย์เริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2547 ขณะนี้ยังศึกษาไม่จบ
พญ.วิญญูกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการซีเพิร์ดและโอดอดมีความแตกต่างกัน คือ ที่มาของนักศึกษา โครงการซีเพิร์ดจะเป็นนักเรียนจากพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.ชุมพร ระนองและสุราษฎร์ธานี เมื่อจบเป็นแพทย์จะต้องใช้ทุนในพื้นที่ใดของ 3 จังหวัดก็ได้ ส่วนโครงการโอดอดเป็นเด็กจากอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อจบต้องใช้ทุนในอำเภอบ้านเกิดของตัวเอง สำหรับระยะเวลาใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษา โครงการซีเพิร์ดจะใช้ทุน 3 ปี แล้วมีสิทธิเรียนต่อเฉพาะทางได้ ส่วนโครงการ โอดอดใช้ทุน 12 ปี จะเรียนต่อเฉพาะทางได้ต้องใช้ทุนแล้ว 4 ปี
--มติชน ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 160 views