สปสช.เผยผลสำเร็จของกองทุนสุขภาพตำบล ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 พบเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น อบต./เทศบาลมีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ และสมทบงบประมาณเพื่อพัฒนาสาธารณสุขในชุมชนมากขึ้น ทั้งเกิดบริการสาธารณะที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งรถฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วย การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน ตามแนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากการที่ได้มีการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพอบต.และเทศบาลหรือกองทุนสุขภาพตำบลขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสปสช. นั้นจนถึงปัจจุบันครอบคลุมร้อยละ 99 ทั่วประเทศ หรือ 7,718 แห่ง โดยสปสช.สนับสนุนงบประมาณอัตรา 40 บาทต่อประชากรต่อปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปี 2549 ถึงปัจจุบันนั้น สปสช.สมทบ 10,685 ล้านบาท อบต.เทศบาลสมทบ 3,001 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 56.65 ล้านคน
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า กิจกรรมการที่แต่ละกองทุนสุขภาพตำบลดำเนินการนั้น มีทั้งการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชนเพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชน ขณะเดียวกันก็เน้นการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น
นายแพทย์วินัย กล่าวว่า จากผลของความสำเร็จการดำเนินการกองทุนสุขภาพตำบลตั้งแต่ปี 2549 นั้น เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กองทุนสุขภาพตำบลนั้นเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นเอง สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ที่พบว่า กองทุนสุขภาพตำบลช่วยเสริมพลังอำนาจของท้องถิ่นและชุมชนได้ดี ท้องถิ่นและชุมชนเกิดความตื่นตัวด้านสุขภาพ มีการสมทบงบประมาณในกองทุนมากขึ้น องค์กรชุมชนมีบทบาทในการเสนอโครงการเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนด้านสาธารณสุขของอบต./เทศบาลที่มากขึ้น เกิดกิจกรรมเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความตระหนักด้านสุขภาพในท้องถิ่น โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การสนับสนุนจาก อปท. สปสช. สถานีอนามัย และหน่วยราชการในพื้นที่ นอกจากนั้นยังเกิดความริเริ่มและนวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยขึ้นมากมาย และเกิดเจ้าภาพใหม่ ได้แก่ เทศบาล/อบต. ในการส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพ
นอกจากนั้น ยังเกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้น เช่น รถบริการฉุกเฉิน ส่งต่อผู้ป่วย การออกกำลังกาย การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม่/เด็ก มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องใหม่ๆ มากกว่าบริบทของสุขภาพ เช่น ต้องการระบบสวัสดิการเมื่อเจ็บป่วยหรือบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นบันไดเรียนรู้และสนับสนุนให้ อปท. พัฒนาการทำงานที่สูงขึ้น เช่น การบริหารจัดบริการสุขภาพชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. และคณะอนุกรรมการถ่ายโอนบริการสาธารณสุข
- 6 views