อดีตกาลโลกรวมเป็นหนึ่งไม่มีแยกออกด้วยเส้นขีดแบ่งอาณาเขต ในขณะนั้นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งก่อกำเนิดและถูกนิยามขึ้นภายหลังว่า“มนุษย์”
มนุษย์ในวันที่ยังล้าหลังคร่ำครึดึกดำบรรพ์หยัดอยู่ในสถานะเสมอหน้าด้วยวิถี คุณค่าของชีวิตไม่อาจจำแนกได้ด้วยมาตรวัดทางความรู้สึกที่ตีกรอบกำหนดเกณฑ์ไว้อย่างอิหลักอิเหลื่อ แน่นอนว่าขณะนั้นย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำกันบ้าง แต่ก็คงไม่สาหัสเหมือนตอนนี้
น้อยก็หนึ่งล่ะ, การ “เหยียด” และการ “ลดทอน” คุณค่าความเป็นมนุษย์ คงไม่รุนแรงถึงขั้นมอง “มนุษย์” ไม่เป็นมนุษย์ ... เฉกเช่นปัจจุบัน
ว่ากันเฉพาะในสังคมไทย มนุษย์ถูกแบ่งแยกออกเป็นจำพวก มีสถานะเป็นตัวกำหนด มีสัญชาติตัดขาดคุณภาพชีวิตที่พึงมีพึงได้ “คนชายขอบ– คนไร้สัญชาติ” ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมรับ อิ่มท้องด้วยเศษเนื้อข้างเขียงที่รัฐเจียดมาให้อย่างเสียไม่ได้
หมดสิทธิเรียกร้อง หมดโอกาสถามหาความชอบธรรมใดๆ หากแต่ทุกวินาทีที่ลมหายใจเข้าออกกลับต้องสำเหนียกบุญคุณ สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์กลุ่มนี้ยากที่จะอธิบายด้วยตัวอักษร ลองหลับตาแล้วจินตนาการ ... ไม่เลย มันเลวร้ายเกินกว่าที่คุณคิดอีกหลายเท่าตัว
มนุษย์ผู้หนึ่งล้มป่วยลง หยูกยาหาเอาจากป่าเขาลำเนาไพรตามอรรถภาพ หนักเข้าอาการร่อแร่ ก็แบกหน้าเดินเท้าไปยังโรงหมอซอมซ่อ มีชีวิตตัวเองเป็นตัวประกัน มีแววตาอิดโรยแทนคำอ้อนวอน มีเพียงสำนึกด้วยสัตย์และหัวใจช้ำๆ ที่เลือนรางด้วยหวังเป็นค่าตอบแทน
หากได้รับความกรุณาจากคุณหมอ จะไม่ลืมพระคุณตลอดชีวิต
ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ที่คุ้นกันว่าบัตรทอง) ดูแลผู้ใช้สิทธิ-ผู้ยากไร้ เหยียบ 50 ล้านคนทั่วประเทศ เดิมยุครัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล 30 บาท ทุกโรค
ระบบได้รับการพัฒนาเรื่อยมา กระทั่งเข้าสู่ยุครัฐบาลขิงแก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ “ผู้ยากไร้” รักษาฟรี กระทั่งเข้าสู่ยุคประชาธิปัตย์ ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการกำหนดนโยบาย “รักษาฟรี 48 ล้านคนใช้บัตรประชาชนใบเดียว”
แม้ในปัจจุบัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลเพื่อไทย จะพยายามย้อนกลับไปเก็บค่ารักษาพยาบาล “30บาท” อีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน ... ทว่านั่นไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ... หาก “มนุษย์ชายขอบ – มนุษย์ไร้สัญชาติ” (ซึ่งอยู่ในแผ่นดินไทยมาหลายช่วงอายุคน) สามารถยืนยันตัวเองผ่านการพิสูจน์สัญชาติจนกระทั่งได้ “บัตรประชาชน” นั่นเท่ากับเขาทั้งหลายจะเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลเทียบเท่ามนุษย์ผู้อื่น
ครูตี๋ – นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้นำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ซึ่งตลอดชีวิตเกี่ยวโยงกับปัญหาคุณภาพชีวิตของคนชายขอบ-คนไร้สัญชาติ รวมถึงชาวบ้านผู้ไม่มีปากมีเสียง ให้ภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสังเขป
“ปัญหาคือเมื่อคนไม่มีสัญชาติ มันก็ออกจากพื้นที่หรือออกไปจากจังหวัดไม่ได้ ออกไปก็โดนจับ การทำมาหากินก็ลำบาก เงินทองก็ไม่มี พอเจ็บป่วยก็เข้าไม่ถึงสถานพยาบาลสักเท่าไร แน่นอนว่าอาจเข้าถึงสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชน แต่ก็เป็นไปตามอรรถภาพ มันไม่มีเงิน ไม่มีทางเลือก” นี่คือชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์จำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปัญหาด้านสุขภาพอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ปัจจุบันทางโรงพยาบาลก็พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เปิดให้รักษาฟรีบ้าง แต่ที่สุดแล้วโรงพยาบาลก็ต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลไว้เอง เขาก็ทำเท่าที่จะทำไหว
ครูตี๋ เล่าว่า ในอดีตรัฐแทบจะไม่เปิดช่องทางให้พวกเขาหายใจ ทั้งๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว แต่รัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนไร้สัญชาติและคนไม่มีสถานะ
คำถามของครูตี๋คือ คนเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นคนไทย แม้ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็ควรได้รับการดูแลอย่างที่ “มนุษย์” สมควรได้รับ และคนเหล่านี้ก็ไม่ได้จำนวนมากอะไร งบประมาณก็ไม่ได้เป็นภาระมากมายจนรัฐบาลแบกรับไม่ได้
“ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดคือภาครัฐมีเจ้าหน้าที่ไม่พอ หากเทียบจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน หลังปี 2543 เป็นต้นไป ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านี้ มีความพยายามผ่อนปรน เปิดช่องให้คนเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการมากขึ้น แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ลำพังจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้คนก็ไม่พอแล้ว ที่สุดแล้วคนก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้สิทธิของตัวเอง เหมือนรัฐเปิดช่องไว้แต่กลับไม่มาชี้ช่องให้เดิน” ครูตี๋อธิบาย
ครูผู้อุทิศชีวิตให้กับเด็กชาวเขารายนี้ สะท้อนความเป็นไปอีกว่า ด้วยสาเหตุหลักคือเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อสำรวจบุคคลได้อย่างครอบคลุม มีบ้างที่เข้ามาสำรวจตามเขาตามดอยตามหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรต่อ แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะผ่อนปรนเกณฑ์และเปิดช่องให้บุคคลแต่ละประเภทเข้าถึงการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่กลับไม่มีใครเข้ามาขับเคลื่อนตรงนี้ มันจึงค้างอยู่กับที่
ครูตี๋ บอกว่า ในพื้นที่หน่วยราชการเข้าใจปัญหา และมีความพยายามจะผลักดัน แต่บางพื้นที่มีเจ้าหน้าที่อยู่คนเดียว เมื่อเข้ากระบวนการขอสัญชาติก็ต้องมีการสัมภาษณ์ มีการเชิญพ่อหลวงมารับรอง กระบวนการใช้เวลายาวนาน บางครั้งทั้งวัน สามารถสัมภาษณ์ได้เพียง 2 คน นี่คือข้อจำกัด
“คุณมีสิทธินะ คุณมีสิทธิจะได้สัญชาติ ก็ต้องเข้ามาบอกเขาว่าต้องทำแบบนี้ๆ ไปยื่นที่นี่ๆ กฎเกณฑ์เป็นอย่างไร แต่ละคนก็มีเงื่อนไขมีประเภทที่แตกต่างกัน ก็ต้องชี้ช่องให้เขา” เอ็นจีโอจากภาคเหนือรายนี้ระบุ และเล่าต่อว่า ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือภาครัฐไม่ให้ความสำคัญเพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2532 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเรื่องนี้มาแล้ว แต่ทุกอย่างก็ยังค้างคาอยู่ที่เดิม
“ร้ายไปกว่านั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายที่มันนิ่งเงียบ ไม่ยอมขับเคลื่อน ถามว่าเงียบเพราะอะไร ก็เพราะจะได้กินตามน้ำ ตัวอย่างเช่น มีคนไร้สัญชาติเดินทางมาหา พอเจ้าหน้าที่ดูแล้วว่าเข้าเกณฑ์ที่จะขอสัญชาติได้ เจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่า เฮ้ย เอามาสักหมื่นสิเดี๋ยวจะดำเนินการให้ มันกลายเป็นทำให้การขอสัญชาติดูเป็นเรื่องยาก แล้วเขาก็กินตามน้ำไปเรื่อยๆ” คือความจริงอันเจ็บปวดจากปากของครูตี๋
ชายร่างผอมผมขาวยาวถึงหลัง ให้ภาพต่อไปว่า แน่นอนว่ายิ่งเวลาทอดยาวไปก็จะมีผู้อพยพเข้ามาเสริมอีก เมื่อรัฐบาลไม่ทำเรื่องพิสูจน์สัญชาติอย่างจริงจัง ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น ทั้งคนดั่งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งคนที่เดินทางเข้ามาใหม่ มันก็จะมั่วไปหมด ปัญหาก็จะขยายเพิ่มมากยิ่งขึ้น
“คือจะล้างปัญหาตรงหน้าหรือไม่ล้างก็ไม่เป็นไร จะให้สัญชาติหรือไม่ให้ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องเริ่มสำรวจให้เห็นตัวคนก่อนว่ามีอยู่เท่าไร อยู่พื้นที่ไหน มีสถานะเป็นอย่างไร มันต้องเริ่มสำรวจก่อน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาครัฐยังไม่เอาจริงเอาจัง แม้ว่าจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณหรือขั้นตอนอะไรซับซ้อนสักเท่าไร” ครูตี๋ กล่าวอย่างเหนื่อยหน่าย
เขา บอกอีกว่า สาเหตุที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากอีกเพียง 2 ปี จะเข้าสู่การเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งชัดเจนว่าทิศทางของประเทศจะมุ่งไปหาการค้าขายเศรษฐกิจเป็นหลัก จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาอีก ปัญหาจะยิ่งทับซ้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น มีทีมวิจัยลงพื้นที่เพื่อสำรวจบุคคล มีการจัดอบรมเพื่อให้คนเหล่านั้นรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไร และเดินหน้ายื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติอย่างไร ช่องทางไหน เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ออกสำรวจ เครือข่ายก็ต้องออกสำรวจแทน โดยภาคประชาชนได้ช่วยเหลือให้คนไทยได้รับสัญชาติมาแล้วหลายร้อยคน
“เท่าที่ประเมินเฉพาะใน จ.เชียงราย มีบุคคลไร้สัญชาติที่ต้องสำรวจไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ทั่วประเทศคงมีหลายหมื่นทีเดียว” ครูตี๋คาดการณ์
เพียงรัฐลงทุนงบประมาณและทรัพยากรบุคคล พลันแก้ปัญหาที่หยั่งรากลงลึกได้ทันที
- 23 views