นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชนที่เสี่ยงต่อโรคไอกรน เนื่องจากสถานการณ์โรคไอกรนทั่วโลกทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2555 พบมีการระบาดมากขึ้น ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มีความครอบคลุมของวัคซีนสูงและมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ก็ประสบปัญหาการระบาดเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยหลังจากมีการให้บริการวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ทำให้อัตราป่วยและจำนวนป่วยลดลงตามลำดับ โดยในปี 2553 มีรายงานเด็กป่วย 6 ราย แต่ในปี 2554 เป็นต้นมา เริ่มกลับมีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรนเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคเพิ่มมากขึ้น ปกติจะมีรายงานผู้ป่วยประมาณปีละ 10 ราย แต่ปี พ.ศ. 2556 ตั้งแต่มกราคม-กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 14 ราย ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีพ.ศ. 2551 องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยโรคไอกรนทั่วโลกประมาณ 16 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อประมาณ 195,000 ราย แม้โรคดังกล่าวจะสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำหรับประเทศไทยนับมีผู้ป่วยลดลงมากจากอดีต โดยพบมีผู้ป่วยประมาณปีละ 10 ราย และไม่มีเด็กป่วยรายใดเสียชีวิต เนื่องจากมีความครอบคลุมของการให้วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สูงมากกว่าร้อยละ 90 แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กรมควบคุมโรคจึงได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้ โดยเร่งรัดการให้วัคซีนและสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้นำเด็กมารับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติมารับวัคซีนรวมตามกำหนด ให้ครบ 5 ครั้ง ดังนี้ อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน มารับวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และวัคซีนตับอักเสบบี จากนั้นมารับวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก อีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี ตามลำดับ
โรคไอกรน เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ บอเด็ทเทลล่า เพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) โดยเชื้อจะจับอยู่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและสร้างพิษทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายหวัด (มีน้ำมูก) ไอเล็กน้อย อาจมีไข้ต่ำๆ นานประมาณ 7-10 วัน จากนั้นจะไอมาก ไอเป็นชุดๆ มีเสียง “ฮู๊บ” หลังการไอหรือขณะไอ ผู้ป่วยเด็กเล็กอาจมีอาเจียนหลังไอ หรือไอจนตัวเขียว พบเลือดออกในเยื่อบุตาขาวได้ ระยะนี้นานถึง 1–10 สัปดาห์ ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ อาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดบวม ชัก อาการทางสมอง น้ำหนักลด ไส้เลื่อนและเสียชีวิต ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนรวม หรือได้รับวัคซีนรวมแต่ยังไม่ครบ 5 ครั้ง โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก และค่อยๆ ลดการแพร่กระจายของโรค จนไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้เมื่อสัปดาห์ที่ 3 หรือหลังผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเชื้อจะหยุดแพร่กระจายหลังได้รับยาแล้ว 5 วัน นอกจากนี้เชื้อนี้จะสามารถแพร่กระจายสู่คนจำนวนมากในเวลารวดเร็วโดยพบว่า ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมีความไวต่อการรับเชื้อทุกคน อัตราของผู้รับเชื้อและป่วยในบ้านเดียวกันสูงถึงร้อยละ 90
จึงแนะนำถ้าพบผู้ป่วยไอกรนในบ้านให้แยกผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกระจายเชื้ออย่างน้อย 1–5 วัน หลังพบแพทย์และได้รับยาปฏิชีวนะ หากไม่ได้รับยาปฏิชีวนะให้แยกผู้ป่วย 21 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไอ หลีกเลี่ยงสารก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น บุหรี่ ฝุ่น ดื่มน้ำให้มาก ครั้งละน้อยแต่บ่อยๆ และควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆบ่อยๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตามการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบ 5 ครั้งตามกำหนด เมื่อเด็กป่วยต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้นมีอาการมีไข้และไอมาก หากสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือ ศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค 02 590 3333
- 20 views