สธ.รับลูกข่าวลือข้าวถุงมีสารเคมีป้องกันมอดเพียบ สั่ง "อย.-กรมวิทย์" ตรวจข้าวถุงในห้างด่วน เผยเก็บ 54 ตัวอย่างแล้ว คาด 28 มิ.ย.รู้ผล ลั่นขั้นต่อไปต้องบังคับขึ้นทะเบียนกับ อย.
หลังจากมีกระแสข่าวว่าข้าวถุงที่ขายในห้างสรรพสินค้ามีการฉีดพ่นยากันมอดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคหวั่นวิตกว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการตรวจสอบมาตรฐานข้าวถุงในท้องตลาดว่า เพื่อความมั่นใจของประชาชน ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตัวอย่างข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่วางขายในท้องตลาดจำนวน 54 ตัวอย่าง ไปตรวจสอบคุณภาพ ทั้งปัญหาความชื้น สารเคมีตกค้าง สารเคมีฆ่ามอด ความไม่สะอาด โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจคุณภาพของข้าวบรรจุถุงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันระเบียบเดิมไม่ครอบคลุมข้าว เพราะถูกมองว่าเป็นอาหารธรรมดาของคนไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความมั่นใจในสินค้าทุกอย่างที่นำมาขายในท้องตลาดมีคุณภาพอยู่แล้ว
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในสมัยนายวิทยา บุรณศิริ เป็น รมว.สธ. มีนโยบายจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย หรือมาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) โดยให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง 3 ปี คือบังคับให้ต้องเข้าสู่มาตรฐานภายในปี 2558 แต่ใครพร้อมก็ทำได้เลย ซึ่งจะพยายามเร่งในเรื่องดังกล่าว โดยในวันนี้จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.อุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานอาหารที่ผลิตในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อให้สามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะดูแลวัตถุดิบ กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลมาตรฐานการผลิต ส่วน อย.จะดูแลในส่วนของวัตถุดิบที่นำเข้าและมาตรฐานอาหารที่ผลิตออกมาเรียบร้อยแล้ว
"เราเชื่อว่าหากทำอย่างนี้ได้จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศที่เป็นระเบียบชัดเจน จะไปศึกษาทั้งหมดเลยว่ามาตรฐานมีอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีนโยบายสู่ครัวโลกในเรื่องของการส่งออกด้วย" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า การสุ่มตรวจข้าวครั้งนี้ไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วจบ จะสุ่มตรวจไปเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่งจะออกเป็นมาตร ฐานสำหรับผู้ผลิตข้าว ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องขอรับรองมาตรฐานจาก อย. เพราะยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทาง อย.ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวบรรจุถุงจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จำนวน 54 ตัวอย่าง มาตรวจหาสารเคมีฆ่ามอดและยากันเชื้อราเพิ่มเติม หากพบว่าข้าวที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสารปนเปื้อนค่อนข้างมาก หลังจากนี้อาจกำหนดให้ต้องมีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. เพื่อตรวจมาตรฐานความปลอดภัยก่อน ก่อนหน้านี้ข้าวทั่วไปจะตรวจเฝ้าระวังยาฆ่าแมลง โลหะหนักเท่านั้น เพราะจัดเป็นสินค้าทั่วไป เป็นสินค้าภาคการเกษตรที่นำมาบรรจุถุง มีความเสี่ยงน้อย ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา จึงไม่ได้ถูกกำหนดเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมพิเศษที่ต้องมีมาตรฐานการผลิต ไม่ต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ยกเว้นข้าวในกลุ่มสินค้าโอท็อปที่ต้องมาขอ อย. ส่วนผู้ผลิตข้าวถุงรายใหญ่ก็สามารถมาขอขึ้นทะเบียน อย.ได้หากต้องการ
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เก็บตัวอย่างข้าวถุงตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วตรวจวิเคราะห์การตกค้างของสารเคมีฆ่ามอด ทั้งเชื้อรา ยาฆ่าแมลงตกค้าง ตรวจอะฟลาท็อกซิน คาดว่าบางส่วนน่าจะได้ผลวันที่ 28 มิ.ย.นี้ โดยสารที่มีการพูดถึงนั้นมีการใช้ในโกดังเก็บข้าวอยู่แล้ว สามารถสลายตัวได้เองและเป็นที่ยอมรับ หากใช้ถูกต้องตามหลักปริมาณสารตกค้างจะไม่เกินค่ามาตรฐานกลางที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) หรือมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) กำหนด
ด้านนายวิฑูร เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณนำเข้าสารรมควันพิษ จากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พบว่า สถิติการนำเข้าลดลงตั้งแต่ปี 2551 แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นในปี 2555 ถึงร้อยละ 62 ทั้งที่ควรลดลงต่อเนื่องและเลิกใช้ไปในที่สุด เนื่องจากไทยได้ตกลงในพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลที่ต้องลดการใช้สารเมทิลโบร์ไมด์ ซึ่งใช้ในการรมข้าว และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และต้องทยอยลดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2556 และสารดังกล่าวในกลุ่มประเทศอียูได้ยกเลิกการใช้ไปเมื่อเดือน มิ.ย.2555
"ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของสารรมควันไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเป็นผลจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งนี้ ยังพบว่าการนำเข้าเมทิลโบร์ไมด์ยังมาในรูปการผสมกับคลอโรพิคริน ซึ่งเป็นสารที่อียูประกาศห้ามใช้แล้วเช่นกัน โดยพบว่าคลอโรพิครินเป็นสารที่ตกค้างปะปนในผลผลิตได้ หน่วยงานภาครัฐควรให้ความมั่นใจต่อประชาชนด้วยการตรวจอย่างโปร่งใสและรีบแจ้งผลให้ทราบ".--จบ--
ที่มา: http://www.thaipost.net
- 48 views