สาธารณสุขห่วงเด็กเล็กป่วย'โรคมือ เท้าปาก' 5 เดือนมีเด็กป่วยกว่า 10,000 ราย ประสานผู้บริหารโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กทำความสะอาดอุปกรณ์ พบให้แยก พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนและเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ จะมีเด็กนักเรียนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ที่เป็นห่วงคือสถานการณ์ของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการมาอยู่รวมกัน ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก โรคนี้มักเกิดในเด็กเล็กทั่วไป สธ.ได้เร่งป้องกัน โดยให้ กรมควบคุมโรค (คร.) กรมอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ประสานกับ ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และ ศูนย์เด็กเล็กทั้งภาครัฐเอกชน เพื่อป้องกันการเกิดโรค ให้ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้ทำความสะอาด อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ แยกของใช้เป็นรายบุคคล เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน หาอุปกรณ์ให้นักเรียนได้ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อน ทานอาหารและหลังเข้าส้วมทุกวัน 2.ให้ครูตรวจ สุขภาพเด็กนักเรียน โดยเฉพาะการตรวจตุ่มใสที่มือ เท้า ปาก และหากพบว่าเด็กมีไข้หรือพบตุ่มใสขึ้นที่มือ เท้า หรือในปาก ขอให้แยกออกจากเด็กปกติ แจ้งผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ สธ.ที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมป้องกันโรค และ 3.การให้ความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ครู โดย สธ.ได้จัดทำเป็นคู่มือคำแนะนำ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในโรงเรียน
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า โรค มือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เกิดจากเชื้อไวรัส ในปี 2556 นี้ ในแถบเอเชียมีรายงานผู้ป่วยที่ประเทศเวียดนาม จำนวนกว่า 800 ราย ในส่วนของประเทศ ไทย จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุม โรค ในปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่ 1 มกราคม-2 มิถุนายน พบผู้ป่วย 11,678 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุ ที่พบมากที่สุด คือ เด็กอายุ 1 ขวบ พบร้อยละ 31 รองลงมาคือ อายุ 2 ขวบ พบร้อยละ 25 และ 3 ขวบ พบร้อยละ 17
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร. กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน อาจมีหลายแผลส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล หากอาการรุนแรงจะลามมาที่ลิ้นกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บ ในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เอง ภายใน 7 วัน มีจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง คือมีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 11 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 6 views