ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวในวันพรุ่งนี้(17 พ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะมีการนำเสนอวาระแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย (co-pay) ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าพิจารณา โดยมีนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.เป็นผู้นำเสนอ
ซึ่งสาระสำคัญของวาระนี้ คือต้องการให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังพิจารณามาตรการต่างๆ ไปพิจารณาให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายสมทบเงินเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพ ต่อจากนี้รัฐจะจ่ายให้บริการแค่สุขภาพที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยไปพิจารณา 3 ทางเลือกคือ 1.การให้ประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนแรกก่อน (Deductible) ซึ่งกฤษฎีกาเคยตีความว่า ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่แบ่งแยกเศรษฐานะผู้ใช้บริการ และค่าใช้จ่ายส่วนแรกอาจกีดดันการเข้าถึงการรักษา 2.การสมทบโดยประชาชน เป็นการบังคับให้ประชาชนที่มีความสามารถในการจ่าย จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 3.มาตรการทางภาษี ซึ่งมี 2 แหล่ง คือ ภาษีบาป หรือภาษีจากสินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา แต่มีประเด็นว่า จะทำอย่างไรกับผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีโดยเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในระบบหลักประกันสุขภาพ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเร่งให้เลขาธิการสปสช.นำเรื่องนี้เข้าพิจารณา จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยผู้ที่เดือดร้อนที่สุด คือ คนยากจน หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ เป็นระบบหลักประกันถ้วนหน้า ไม่กีดกันใคร และไม่ใช่กองทุนอนาถา แต่การที่รัฐมนตรีประดิษฐและเลขา สปสช.จะผลักดันให้ประชาชนต้อง co-pay ทั้งที่เมื่อตอนสั่งเก็บ 30 บาทก็บอกว่าร่วมจ่ายแล้ว คือการทำให้คนไม่มีศักดิ์ศรี เป็นกองทุนคนจน แล้วก็จะกันคนจนออกไปในที่สุด
นางสาวสารี กล่าวต่อว่า รัฐมนตรี สธ.และกรรมการ สปสช.บางคนยังมีทัศนะที่ดูถูกประชาชนว่า ประชาชนไปใช้บริการอย่างฟุ่มเฟือย เลยมาเรียกเก็บเงิน ทั้งที่งานศึกษาต่างๆก็ชี้ชัดว่า ประชาชนในระบบหลักประกันไม่ได้ใช้บริการเกินความจำเป็น ใช้บริการน้อยกว่าข้าราชการและประกันสังคมด้วยซ้ำ ทำไมยังมีวิธีคิดที่ดูถูกคนเช่นนี้ คนไปชุมนุมรัฐมนตรีคนนึงก็เรียกประชาชนว่า ขยะ นี่พอป่วยก็ให้ทนเอา ทนจนทนไม่ไหวค่อยไปหาหมอ เอาเงินมากั้นคนเข้าถึงระบบสุขภาพ
“นอกจากนี้ ยังมีวิธีคิดว่า ประชาชนทุกคนทำงานมีเงินเดือน มีรายได้ประจำ เพื่อเรียกเก็บรายเดือน รัฐมนตรีและเลขา สปสช.ไม่คิดถึงคนที่ทำเกษตร ชาวไร่ชาวนา คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ทราบว่าใช้อะไรคิด จะหักเปอร์เซ็นเหมือนแรงงานในโรงงาน และหากยิ่งไปขยายฐานภาษีในกลุ่มนี้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ แล้วในที่สุดจะได้มีข้ออ้างให้เอกชนเข้ามารับประกันโดยรัฐจ่ายค่าหัวพื้นฐานใช่หรือไม่ เราขอให้นายกฯ ช่วยพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่วางรากฐานมาตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ในวันพรุ่งนี้ตัวแทนภาคประชาชนจะไปชุมนุมหน้าห้องการประชุมบอร์ด สปสช.ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เราอยากให้ นพ.วินัย สวัสดิวร มีศักดิ์ศรีในความเป็นคนสปสช.มากกว่านี้ หากเรื่องใดที่เป็นการทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรแจ้งและแย้งรัฐมนตรี ไม่ใช่คอยแต่เป็นขุนพลพลอยพยัก”นางสาวสารี กล่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ผู้อำนวยการเขต สปสช. 12 คนได้เข้าพบ นพ.วินัย และแสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่โดยเฉพาะการออกมาให้สัมภาษณ์เออออกับรัฐมนตรี แม้จะเป็นเรื่องที่โกหกก็ตาม เช่นเรื่องเงินค้างท่อที่รัฐมนตรีและเลขาฯอ้างว่ามีถึง 20,000 ล้านบาท เพื่อหวังนำไปให้ผู้ตรวจ 12 เขตของกระทรวงสาธารณสุขจัดการ ทั้งที่ได้มีการชี้แจงในที่ประชุมแล้ว ว่างบที่ตั้งเบิกได้จ่ายออกมากกว่าแผนที่กำหนด คงเหลืออยู่จำนวนน้อยมาก ที่รอการเบิกจ่าย ทั้งนี้ในวันดังกล่าว ผู้อำนวยการเขต สปสช.คนหนึ่งได้กล่าวต่อหน้า นพ.วินัยว่า “พี่ต้องการให้สังคมจดจำในฐานะ อะไร”
- 1 view