จากการที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เดินทางไปศึกษาดูงานยังโรงพยาบาลอำเภอบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น พบว่าปัญหาของโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล นอกจากจะเป็นปัญหาเดิมๆ ที่มักจะพบกัน คือ งบประมาณที่ไม่เพียงพอแล้วก็เป็นเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอและขาดประสบการณ์อีกด้วย
โดยปกติแล้วบุคลากรที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็คือกลุ่มแพทย์เพิ่งจบใหม่ที่ยังขาดทักษะและประสบการณ์พอใช้ทุนหรือพอมีประสบการณ์จะขอย้ายตัวเองกลับกรุงเทพฯหรือเข้าไปทำงานในเมือง หากแต่ทว่า ปัญหาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ซึ่งเปรียบเสมือนตัวอย่างของโรงพยาบาลด่านหน้าที่อยู่ตามแนวพรมแดนของไทย กำลังเผชิญซึ่งนอกเหนือไปจากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โรงพยาบาลอื่นที่คล้ายคลึงกันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังต้องรับมือกับปัญหาอื่นเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ซึ่งสามารถกล่าวโดยสรุปได้ 3 ปัญหาหลัก คือ
1.ปัญหาการหลั่งไหลของผู้ป่วยตามแนวพรมแดน
ปรากฏเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่ามาตรฐานด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนี้ ประเทศไทยก็ยังคงถือได้ว่าดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มากภายใต้ข้อจำกัดประกอบกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ จึงส่งผลให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขไทยไม่สามารถเพิกเฉย ละเลย ละเว้น ตลอดจนดูแลรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติได้
ผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า มีทั้งผู้ที่มีความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายหากแต่ส่วนมากแล้วไม่สามารถชำระได้ และเป็นการก่อให้เกิดภาระหนี้สูญแก่โรงพยาบาลนับแสนบาทต่อปี
เมื่อมีการประชุมระหว่างเมืองที่มีพรมแดนติดกันของทั้งสองประเทศ ผู้แทนจากโรงพยาบาลได้หยิบยกเอาปัญหานี้ขึ้นมาเป็นวาระหารือ แต่ทว่าคำตอบจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับ คือ คำขอบคุณที่ช่วยดูแลคนของเขาส่วนการช่วยเหลือทางด้านการเงินกลับนิ่งเฉย
ข้อเท็จจริงนี้จึงกลายเป็นจุดที่หลักการในทางทฤษฎีได้ก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง
เมื่อย้อนกลับไปดูจากตัวอย่างของโรงพยาบาลข้างต้น ปัญหาจะทวีความรุนแรงมากเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะกำลังจะมีการเปิดด่านถาวรแทนด่านชั่วคราว ที่ปัจจุบันเปิดเฉพาะช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เป็นตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว ช่องภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ อันจะเป็นโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรได้สะดวกมากเพิ่มขึ้น อันจะมาพร้อมกับจำนวนผู้ใช้บริการทางด้านสาธารณสุขจากประเทศเพื่อนบ้านจากหลักร้อยก็อาจจะขึ้นเป็นหลักพัน ยอดหนี้ค้างชำระจากหลักแสนก็จะอาจเพิ่มเป็นหลักล้าน ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทั่วประเทศ
2.ปัญหาอัตรากำลังแพทย์
ปัญหานี้คงจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงรากเหง้าของปัญหาที่สะสมมาในระบบอย่างยาวนาน โรงพยาบาลหน้าด่านย่อมมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่น้อย เพราะอัตรากำลังย่อมแปรผันโดยตรงกับสัดส่วนประชากร เมื่อตามแนวพรมแดนมีความหนาแน่นของประชาชนน้อย ย่อมทำให้อัตรา กำลังน้อยตาม เมื่ออัตรากำลังมีอยู่อย่างจำกัดย่อมไม่สามารถวินิจฉัยโรค หรือทำการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ แพทย์ด้านอายุรกรรมหรือศัลยกรรมทั่วประเทศไทยก็มีอยู่อย่างจำกัด จึงเท่ากับว่าถ้าประชาชนตามแนวพรมแดน หากตกอยู่ในภาวะเส้นเลือดในสมองแตก เลือดออกในสมองอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือเส้นเลือดในสมองตีบตันที่ทำให้สมองบวมหรือเสียหาย หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้สามารถรอดชีวิตหรือลดโอกาสที่จะพิการ เป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งการผ่าตัดต้องใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาเท่านั้นมิฉะนั้นก็จะมีความเสี่ยงต่อสมองเสียหาย หรือนอนเป็นผัก ซึ่งแพทย์สาขาดังกล่าวอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนักและส่งผลโดยตรงต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
โรงพยาบาลข้างต้น มีแพทย์ประจำอยู่เพียงคนเดียว ย่อมไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หนทางเดียวที่สามารถกระทำได้ คือ การส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรักษายังโรงพยาบาลในเมือง หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งอื่นต่อไป ซึ่งไม่ต่างไปจากการส่งปัญหาไปยังที่อื่นโรงพยาบาลในตัวเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่พบกับปัญหาเตียงเต็ม
นอกเหนือไปจากปัญหาความล่าช้าแล้วพบว่ายังขาดแคลนพาหนะที่เพียงพอในการบริการผู้ยากไร้อีกด้วย
3.ปัญหาแพทย์จบใหม่
ปัจจุบันวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในประเด็นเรื่องการขาดแคลนแพทย์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ นอกเหนือไปจากที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือ ใช้วิธีเพิ่มการผลิต หรือไม่ก็เพิ่มค่าปรับการใช้ทุน แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และจะรักษาแพทย์ที่มีอุดมการณ์ในระบบได้อย่างไร
แพทย์จบใหม่มาใช้ทุนแทนที่จะได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะกลับไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล จนทำให้ไม่ได้เกิดทักษะประสบการณ์ที่ถูกต้องได้มาตรฐานวิชาชีพ อีกทั้งยังต้องเข้าทำงานด้านบริหารโรงพยาบาลที่ตนเองไม่ได้เรียนมาหรือทำงานบริหารโดยไม่มีความรู้ความชำนาญพร้อมทั้งเมื่อบุคลากรทางการแพทย์เป็นเพียงกลุ่มคนที่เพิ่งออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย มีเพียงความรู้แต่ขาดประสบการณ์ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นคนกรุงเทพฯ จึงมีอยู่เพียงน้อยรายที่จะมีแรงจูงใจในการอยู่ปฏิบัติงานในชุมชนนั้นต่อไป
นอกจากนี้ แพทย์สาขาที่มีความนิยมสูงในยุคปัจจุบัน คือ สาขาที่รายได้ดี เสี่ยงน้อย งานไม่หนัก ไม่มีการผ่าตัด ไม่เร่งด่วน รวมถึงยังอาจมีชื่อเสียงได้ไม่ยาก คือแพทย์ผิวหนังหรือศัลยกรรมความงาม แต่ทว่าแพทย์ด้านอายุรกรรมหรือศัลยกรรมที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบันกลับพยายามออกกฎหมาย ระเบียบที่เคร่งครัดแทน บังคับให้แพทย์ต้องทำงานอยู่ในระบบ แทนที่จะเพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์ที่มีความตั้งใจทำงานในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถอยู่ในระบบต่อไปได้ จึงทำให้แม้ต้องการเพิ่มจำนวนแพทย์แต่ก็ไม่สามารถทำได้
เนื่องจากขาดแพทย์ที่มีความประสงค์ที่จะเข้าศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้
ดังนั้น ทิศทางสาธารณสุขของไทยจะต้องปรับตัวไปในทางใดเพราะด้านหนึ่งในเวทีของอาเซียนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ใน 2 ระดับ คือ
1.การพัฒนาระบบบริการในภาพรวมของประเทศได้แบ่งออกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยให้แต่ละเขตบริการวางแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งเครื่องมือและบุคลากร
และ 2.เตรียมจัดตั้งเมืองศูนย์กลางสุขภาพอาเซียน กำหนดไว้ 5 จังหวัด คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภาคใต้ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันตก ที่จังหวัดกาญจนบุรี
นอกจากนี้ ได้เตรียมพัฒนาโรงพยาบาลชายแดน 50 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนแนวชายแดนที่จะข้ามพรมแดนเข้ามาใช้บริการด้วยที่จะมีโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทันสมัยระดับสากล
แต่สิ่งที่กล่าวมาเป็นแต่เพียงนโยบายที่ห่างไกลจากความจริง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชายแดนที่ยังขาดแคลน และประเทศไทยจะเดินไปยังทิศนี้อย่างไร
การสะสมปัญหาของประเทศไทยที่มีอยู่มากมายและต่างรอคอยอย่างอดทน ต่อการแก้ไขด้วยงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐบาลจึงไม่อาจปฏิเสธถึงความรับผิดชอบในการสร้างหนี้สาธารณะ ที่ต้องให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศร่วมกันแบกรับและชดใช้ การทุ่มเงินในอนาคตที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะต้องใช้หนี้แบบไหน จำนวนทั้งสิ้นเท่าไหร่ และอย่างไรไปกับ "การขนส่งสินค้าโดยรถไฟความเร็วสูงเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจเติบโต และเป็นการต่อยอดสำหรับสินค้าเกษตร ซึ่งต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพที่ดี สามารถจำหน่ายได้ ในราคาที่สูง และผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ สดใหม่ ไม่เน่าเสีย อันเป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ" เป็นสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จึงย่อมต้องทบทวนดูให้ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะลำพังปัญหาการสาธารณสุขที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นแต่เพียงใบไม้เดียวบนต้นปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลและแก้ไข
ด้วยงบประมาณจำนวน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางและขนส่ง หากแต่นำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านสาธารณสุขด้วยงบประมาณที่เท่ากัน ก็สามารถยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นการยกระดับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงสิทธิทางด้านสาธารณสุขของประชาชน อีกทั้งเป็นการพัฒนาการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั่วประเทศแทนการเหลื่อมล้ำและช่องว่างที่ห่างกันมากเพิ่มขึ้น
รัฐบาลจึงไม่ควรให้น้ำหนักของการพัฒนาประเทศด้วยการทุ่มเทเงินจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตแต่เพียงด้านเดียว โดยที่ละเลยต่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
--มติชน ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 315 views