แม้รัฐบาลปัจจุบันจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประ เทศเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยยังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจที่รัดตัว ในขณะที่การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการโดยการเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างการเพิ่มผลิตภาพและการคุ้มครองแรงงานยังไม่บรรลุเป้าหมายซึ่งจะต้องรวมพลังผลักดันต่อไป
ทั้งนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งเห็นได้จากรายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ที่ไม่อาจทำให้เท่าเทียมกันได้ทุกคน อาทิ เกษตรกรยากจน คนงานพื้นฐาน ลูกจ้างภาคเกษตร และลูกจ้างในระบบจ้างเหมาช่วง ฯลฯ ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างมีส่วนสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องคำนึงถึงสถานะของมนุษย์ค่าจ้างรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เคียงคู่ไปกับการพิจารณาสถานภาพของเกษตรกรยากจนด้วย
ส่วนการปรับโครงสร้างค่าจ้าง (นอกเหนือจากปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน) นั้นรัฐบาลและนายจ้างก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ และฝีมือที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความเสี่ยงและลักษณะงานของลูกจ้าง และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้โดยวัดจากประสบการณ์ ฝีมือและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศ อื่นๆ ปรับโครงสร้างค่าจ้างที่มากกว่าแรงงานไทย 3-8 เท่าตัวแล้ว อาทิ มาเล เซีย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้เป็นต้น ทำให้แรงงานไทยที่พอจะมีทักษะและฝีมือ มักจะแสวงหาช่องทางไปทำงานในประเทศเหล่านี้
อย่างไรก็ตามการเพิ่มรายได้ใน มิติความจำเป็นของชีวิตก็ต้องคำนึงถึงคนงานไร้ทักษะที่เข้าทำงานเป็นครั้งแรกที่จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่พอเพียง เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ด้วย เพราะคนงานไทยยากจน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน จึงต้องดิ้นรนทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นรายได้ให้แก่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และลูกๆ ที่อยู่ในชนบท
นอกจากนี้ ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นยังจะทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มเร็วขึ้น เพียงพอที่จะช่วยแรงงานปลดเกษียณ ที่ต้องพึ่งเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่จะต้องแข่งขันด้วยคุณภาพที่สูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพของกำลังแรงงาน นอกจากจะเพิ่มโอกาสให้แรงงานมีอำนาจต่อรองด้วยทักษะฝีมือของตนแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วย ยิ่งในปี 2558 ที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ก็จะมีนักวิชาชีพและแรงงานฝีมือหลายสาขา เคลื่อนย้ายเข้า-ออก ในประเทศอาเซียนได้อย่างเสรีมากขึ้นจึงจำเป็นที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับค่าจ้าง และฝีมือแรงงาน ถ้าค่าจ้างของไทยต่ำเกินไป แรงงานฝีมือไทยก็จะย้ายไปมาเลเซีย สิงคโปร์มากขึ้นขณะเดียวกันถ้าไม่เร่งรัดพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ตำแหน่งงานก็จะถูกถ่ายเทไปยังแรงงานฝีมือ ที่มาจากเวียดนาม เมียนมาร์ เป็นต้น
สำหรับการจัดสวัสดิการสังคมที่จะทำให้เกิดภาวะกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิตามอัตภาพนั้นรัฐต้องจัดบริการการศึกษาฟรี บริการสาธารณสุขฟรี ขณะที่ภาคเอกชนจัดที่พักราคาถูกและอาจมีโรงเรียนใกล้ๆ โรงงานเพื่อให้แรงงานดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการผลิตขับเคลื่อนไปได้ราบรื่น ปัญหาสังคมก็จะลดลง และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และสร้างโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งควรจัดให้ทั่วหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการคุ้มครองทางสังคม ตั้งแต่สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกับภาคส่วนต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยรัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม นายจ้าง และลูกจ้างต้องร่วมกันทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนในการคุ้มครอง เพื่อให้แรงงานดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มอื่นในสังคมรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่ทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยด้วย
ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองโดยให้แรงงานกลุ่มต่างๆ รวมตัวทั้งในกลุ่มระหว่างกลุ่ม ระหว่างแรงงานประเภทเดียว กัน และต่างประเภทกัน ระหว่างคนที่เป็นลูกจ้างและไม่เป็นลูกจ้าง รวมทั้งข้าราชการและแรงงานทุกประ เภททั้งภาคเอกชนและภาครัฐพร้อมกับให้มีการเลือกตั้งระบบไตรภาคี ตามระบอบประชาธิปไตย ให้แรงงานทุกคนออกเสียงได้ 1 คน 1 เสียง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 (7)
ขณะเดียวกันให้พรรคการ เมืองและองค์กรภาคประชาชนเสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฎรให้มีการปรับ ปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยให้สิทธิลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่ใดๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งตัวแทนของเขตพื้นที่นั้นๆหรือหากลูกจ้างนั้นประสงค์จะไปใช้สิทธิในภูมิลำเนาเดิมก็สามารถทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
นอกจากนี้รัฐบาลต้องสนับ สนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือกองทุนการเงินพิทักษ์สิทธิของแรงงาน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84(9) โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีการเลิกกิจการ ลูกจ้าง (ทั้งหญิง-ชาย) มีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากกองทุน รวมถึงการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 5 - 8 พ.ค. 2556
- 4 views