รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเตรียมตั้งหน่วยงานอิสระระดับชาติ ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านข้อมูลสุขภาพ ทำหน้าที่ทางด้านบริหารข้อมูลทางด้านสุขภาพและการเบิกจ่ายเงิน หรือ เคลียริ่ง เฮ้าส์ (Clearing house) คาดจะตั้งในเดือนตุลาคม 2557
วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการตั้งองค์กรระดับชาติ ที่ทำหน้าที่ทางด้านบริหารข้อมูลทางด้านสุขภาพและการเบิกจ่ายเงิน หรือ เคลียริ่ง เฮ้าส์ (Clearing house) ว่า ในการประชุมวันนี้เป็นการหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. และ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย หรือ สวปก. สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ หรือ สกส. ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย หรือ ศรท. และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการตั้งองค์กรดังกล่าวว่า จะเป็นรูปแบบองค์กรมหาชน หรือรูปแบบบริษัท โดยให้ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการได้ร่วมกันในการออกแบบ รูปแบบขององค์กรกลางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งทางด้านเทคนิคในการทำข้อมูลทางด้านสุขภาพ ทางด้านการเคลียริ่ง คาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2557 องค์กรดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ ที่จะต้องขอข้อมูลทางด้านสุขภาพมาวางแผนดำเนินการ ทางด้านนโยบายสาธารณสุขในอนาคต
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า องค์กรกลางที่จะตั้งนี้ จะต้องเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ เนื่องจากต้องการความเชื่อมั่นในการให้ข้อมูลต่อหน่วยงานต่างๆครบ 100%องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพด้วย ไม่ใช่เฉพาะด้านเคลียริ่งเท่านั้น โดยรัฐบาลจะมีอำนาจหรือบทบาทในการกำกับดูแลด้วยไม่ว่าจะเป็นองค์กรมหาชนหรือรูปแบบบริษัท เนื่องจากรัฐบาลต้องนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการนโยบายสาธารณสุข โดยประธานขององค์กรนี้ อาจไม่ใช่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่อาจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือของข้อมูล
“ทั้งนี้ ระหว่างที่รอการจัดตั้ง ได้ให้หน่วยงานเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สปสช. กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจัดทำข้อมูลต่อไป ในรูปของการทำงานแบบเดิมหรือจ้างหน่วยงานอื่นเก็บแทนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด โดยจะมีการเสนอแนวทางการดำเนินงานและข้อคิดเห็นในอีก 1 – 2 เดือน” นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว
- 75 views