อภ. ตั้งทนายชื่อดังเป็นที่ปรึกษาหลังถูกตรวจสอบกรณี "โรงงานวัคซีน-สำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล" ด้าน "หมอวิทิต" ป่วยเลื่อนให้การดีเอสไอ ฝ่าย "ธานินทร์" รุดตรวจวัตถุดิบ100 ตัน ชี้เก็บดีของอยู่ครบ ในขณะที่ "หมอประดิษฐ" มอบเอกสารเพิ่ม คาดดีเอสไอสรุปสัปดาห์หน้า จบกรณียาโรคหัวใจใกล้หมดอายุเจรจาคืนบริษัทแล้ว
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขกล่าวภายหลัง นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพบว่า ทางดีเอสไอมารับเอกสารเพิ่มเติมเป็นคำแปลกรณีเจ้าหน้าที่เทคนิคองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการสร้างโรงงานวัคซีน และตนยังได้มอบเอกสารเกี่ยวกับการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอลที่ได้รับเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ด้วย ซึ่งทางดีเอสไอคาดว่าจะสรุปผลการตรวจสอบได้ในสัปดาห์หน้าว่าเรื่องที่ส่งให้ตรวจสอบนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ทั้งหมดยังไม่ได้กล่าวหาว่าใครทุจริต เป็นเพียงความผิดปกติที่ต้องการคำอธิบาย ถ้าสมเหตุสมผลก็จบกันไป
ต่อข้อถามว่า ตอนนี้จะตัดสินใจเชิงนโยบายเดินหน้าโรงงานวัคซีนอย่างไร นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า จะคุยกับ อภ. เพื่อตั้งคณะกรรมการประมาณ 5-6 คน มาให้คำแนะนำทางวิชาการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และการผลิตวัคซีน ตอนนี้อยู่ระหว่างทาบทาม ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเตรียมบุกกระทรวงในวันที่ 24 เม.ย. โดยกล่าวหาว่าตนทำลาย อภ. หรือจะไปล้มการทำซีแอลนั้น ได้บอกไปแล้วว่าหากจะทำอย่างนั้นคงไม่ไปตรวจสอบโรงงานเพราะเรื่องนี้ล่าช้ามา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ได้เร่งให้แล้วเสร็จ ดังนั้นคงต้องอธิบายให้เข้าใจว่าต้องการทำให้ อภ. สะอาดไม่มีข้อครหา
เมื่อถามถึงข่าวกรณียาโรคหัวใจที่ใกล้หมดอายุ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ตอนทำซีแอลมีการสั่งยาเข้ามาจากประเทศอินเดียปรากฏว่าไม่มีประสิทธิภาพก็เลยจะเปลี่ยนบริษัท ระหว่างรอเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเดือนละ 1 ล้านเม็ด จึงไปซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย เหมือนกับว่าไปซื้อยาฟอร์ม 1 แต่ทำซีแอลฟอร์ม 2 พอไม่กล้าขายก็เก็บไว้ 2 แหล่ง แหล่งหนึ่งเก็บดี อีกแหล่งฟอยล์อาจจะมีลักษณะเหมือนฉีกขาด เคยมีการนำเข้าบอร์ด อภ. ว่าจะเอาไปขายดีหรือไม่ สุดท้ายบอร์ด อภ. ไม่เห็นด้วย มาปีนี้มีการนำเสนอบอร์ด อภ. อีกครั้งว่าจะเอาไปบริจาคให้ สปสช. ทางบอร์ด อภ. บอกว่าไม่ดี ยาใกล้จะหมดอายุแล้วก็เลยมีมติให้ขายตามสภาพ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดได้รับรายงานจาก ผอ.อภ. ว่าสามารถเจรจาขอคืนยาได้หมดแล้ว ส่วนจะคืนได้เท่าไหร่ยังไม่มีข้อสรุปโดยซื้อยามากว่า 12 ล้านบาท
ด้าน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต กล่าวภายหลังเดินทางไปตรวจสอบวัตถุดิบพาราเซตามอล 100 ตัน ของ อภ. ที่คลังสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ว่า วัตถุดิบยังอยู่ครบตามจำนวน จึงได้ขอให้ทางบริษัทไปรษณีย์ไทยทำหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการ ส่วนการเก็บวัตถุดิบก็เป็นไปตามหลักวิชาการ มีระบบระบายอากาศที่ดี จากการตรวจดูอายุของวัตถุดิบ พบว่า วัตถุดิบยังไม่หมดอายุ ซึ่งมี 2 ระยะ คือ ผลิตเมื่อปี 2554 หมดอายุ ปี 2557 และผลิตเมื่อปี 2555 หมดอายุ ปี 2558
นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ได้เชิญผอ.อภ. เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม แต่เนื่องจาก นพ.วิทิต ป่วยกะทันหัน จึงได้มอบหมายทนายความเป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนการให้ปากคำ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 เม.ย. ได้เชิญ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. มาให้ปากคำด้วย
ดร.สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความชื่อดัง กล่าวว่า ได้รับการติดต่อมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ อภ. และ ผอ.อภ. โดยดูว่า ข้อเท็จจริงมีอะไรบ้าง ดีเอสไอกำลังรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไร ในวันนี้ ผอ.อภ. ป่วยนอนพักอยู่ รพ. จึงต้องเลื่อนให้ปากคำไปนัดหน้าโดยตนจะพาไปชี้แจงด้วยตัวเอง ต่อข้อถามว่าได้ให้คำปรึกษา ผอ.อภ. อย่างไร ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผอ.อภ. มีประวัติที่ดี มีผู้สงสารท่านที่ถูกกล่าวหาก็ติดต่อมาให้ช่วยดูแลว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ดูคร่าว ๆ เบื้องต้นแล้วไม่เห็นมีเรื่องสลับซับซ้อนอะไร เมื่อถามถึงกรณีดีเอสไอเรียกเจ้าหน้าที่ อภ. ไปชี้แจงเมื่อวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ไป ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาทุกคนก็ตกใจว่าจะให้ไปให้การอะไร การปรึกษาทนายความเป็นเรื่องปกติ แต่ละคดีที่ตนดูแลตรงไปตรงมา พร้อมอำนวยความสะดวกให้ดีเอสไอ ไม่มีประวิงเวลา ผอ.อภ. ก็บริสุทธิ์ใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 เมษายน 2556
- 9 views