ในอีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทย จะก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ต่อนักบริหารระบบบริการสุขภาพของไทย ในการเตรียมเป็นเมดิคัลฮับแห่งอาเซียน ท่ามกลางความแตกต่างทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รายได้ประชากร และระบบสุขภาพพื้นฐาน ทว่าการจะไปสู่เป้าหมายเป็นศูนย์กลางระบบบริการสุขภาพของอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บอกว่า อาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า มีการวางกรอบให้ 10 ประเทศ มีหนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งภาพอัตลักษณ์ และหนึ่งประชาคมอาเซียน ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วทุกประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะมองทั้งเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ และขณะนี้สามเสาหลักของอาเซียนที่มีข้อตกลงร่วมกัน(เออีซี)จะต้องเดินหน้าทั้งสามเสาหลัก แต่ประเทศไทยเน้นในด้านเดียวคือเศรษฐกิจซึ่งในอนาคตหากเน้นด้านเดียวอาจจะไปไม่รอด มองว่าเราต้องเน้นและเดินหน้าทำทั้งสามด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองที่เกี่ยวกับชายแดนว่าจะต้องช่วยเหลือกันอย่างไร หรือด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณสุขโดยตรง สำหรับด้านสังคมและวัฒนธรรม ตามกรอบที่อาเซียนกำหนดและเหล่าผู้บริหารในระบบสุขภาพไทยจำเป็นต้องทำคือ เน้นที่การพัฒนาบุคลากร สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคุณภาพและ การศึกษา มีการลงทุนในการพัฒนาบุคคล สถานที่ทำงานที่ดี สร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพที่ดี พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพิ่มความสามารถในการประกอบธุรกิจของคน 4 กลุ่ม คือ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
"หลังสงครามเย็น ลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ถ้าประเทศไทยจะสู้ได้ต้องลงทุนทางด้านการศึกษาและต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาที่มีคุณธรรมด้วย"
นายแพทย์เกษม ยังมองว่าด้านสวัสดิการและการปกป้องทางสังคม ถ้าจะบูรณาการด้านสุขภาพต้องมีความระมัดระวังกลุ่มคนที่ได้เปรียบเสียเปรียบ ลดความยากจน สร้างหลักประกันและป้องกันผลเสียจากการรวมกลุ่มประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร ทำอย่างไรให้ประชาชนทั้ง 4 กลุ่มเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนการใช้ชีวิตเพื่อมีสุขภาพที่ดี
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดี อีกประเทศหนึ่ง แม้จะมีความเลื่อมล้ำหรือมีบางอย่างที่ต้องปรับปรุงบ้าง ซึ่งเราต้องทำงานอีกมาก หากเปิดอาเซียนจะมีการอพยพและรวมประเทศมากขึ้น เราต้องป้องกัน เพราะมนุษย์ก็เป็นตัวนำพาหะโรคได้เหมือนกัน รวมถึงมาตรการทำให้เขตอาเซียนปลอดยาเสพติด สร้างมาตรการเพื่อการฟื้นตัวของพื้นที่ต่างๆ ที่จะเกิดภัยพิบัติทำให้พื้นที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ต้องสร้างความเป็นธรรมและสิทธิในสังคม ปกป้องผู้หญิง เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องสร้างความยั่งยืน ตระหนักและร่วมปฏิบัติในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกัน ซึ่งอาเซียนเองก็อยากให้ประชาชนได้ศึกษาและมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ตรงนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นไปตามระบบราชการไทยที่มักจะคิดแทนประชาชน และคอยออกคำสั่งประชาชนเพื่อแก้ปัญหา ถ้าราชการไทยคิดแบบนั้นจะไปไม่รอด
นายแพทย์เกษม บอกว่าราชการควร จะต้องลงไปอยู่กับประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิตในเมืองและชนบท กำหนดนโยบาย สิ่งแวดล้อมให้ตรงตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งเป็นเรื่องใหญ่ และหลายประเทศมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลากหลายให้ยั่งยืน ขณะที่งานวิจัยพฤติกรรมของพืชและสัตว์พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เห็นว่าอาเซียนน่าจะจับมือกันทำเรื่องเหล่านี้ เพราะปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับอาหาร สภาวะโลกร้อน และเกิดการเปลี่ยนแปลง "ผมไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดี และประเทศอื่นก็ไม่รู้ว่าเราจะเรียนรู้จากเขาได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องลองเปิดใจให้กว้าง บางประเทศก็มีระบบและไม่มีระบบ ซึ่งปัจจุบันมีระบบทุนนิยมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ ไม่สนใจว่าผลิตภัณฑ์ของเขาจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของใคร ในฐานะที่เราทำงานด้านนี้ก็ควรระมัดระวังและเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมอาเซียนแล้วบริษัทข้ามชาติจะมีอิทธิพลมาก ทั้งด้านการเมืองและอื่นๆ" นายแพทย์เกษม กล่าว ขณะเดียวกันการก้าวสู่อาเซียน ไม่ใช่เพียงแค่ 9 ประเทศเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ต้องรับมืออีก 6 ประเทศที่จะต้องเข้าร่วมด้วย สาเหตุที่อาเซียนไม่สามารถอยู่คนเดียวได้และต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากจีดีพีของอาเซียนมีเพียง 2% ดังนั้นจึงต้องผนวกรวมกับอาเซียนบวกสามเพื่อรวม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ให้จีดีพีขยับตัวขึ้นเป็น 18 % ซึ่งอย่าลืมว่าทั้งสามประเทศเขาเน้นที่คุณภาพการศึกษา และคุณภาพการวิจัยเพื่อจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆป้อนสู่โลก และยังรวมถึงอาเซียนบวกหกประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อให้จีดีพีขยับตัวขึ้นเป็น 22 % เพื่อให้อาเซียนอยู่รอดภายใต้มหาอำนาจของโลก
นายแพทย์เกษม บอกอีกว่า นอกจากปัญหาด้านจีดีพีทางเศรษฐกิจแล้ว ประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการคอร์รัปชันมากที่สุด จากอัตราความโปร่งใสที่สำรวจทุก 2 ปี หากได้ 10 คะแนนคือโปร่งใส พบว่ามีเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถพูดได้คือ สิงคโปร์ ได้ 9.5 คะแนน บรูไน ได้ 5.2 และอีก 8 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้คะแนนต่ำกว่า 4.5 คือเกิดการคอร์รัปชันมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีคะแนน ไม่เคยถึง 4 มีเพียง 3 กว่าๆเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นในประเทศไทยมีจำนวนมาก ดังนั้น ผู้บริหารในระบบสุขภาพไทยควรจะทำ โรงพยาบาลคุณธรรมขึ้นมา โดยการบริหารโรงพยาบาล ผู้บริการต้องรับผิดชอบ 2 เรื่อง คือ สร้างความพร้อมและสร้างความดี ผู้บริหารต้องรับผิดชอบและสร้างความพร้อมของโรงพยาบาล ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ และพยาบาลต้องรับผิดชอบ และผู้เป็นเจ้าของโรงพยาบาลก็ต้องดูภาพรวมว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมที่จะให้บริการหรือไม่
ส่วนเรื่องความดีก็เช่นเดียวกัน คือ ผู้บริหารต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม ผู้เป็นเจ้าของโรงพยาบาลก็ต้องพยายามทำให้โรงพยาบาลของตนเองมีคุณธรรม และการบริหารต้องมีความพร้อมทางด้านวิชาการควบคู่ด้วย สำหรับมาตรการการสร้างความดีนั้น นายแพทย์เกษม บอกว่าทำไม่ยาก เคยถอดแบบมาจากโรงเรียนที่สร้างคุณธรรมจริยธรรม ต้องมีความเชื่อว่าการนำเอาคุณธรรมเข้าไปในองค์กรใดองค์กรหนึ่งต้องเอาเข้าไปให้กับทุกคนในองค์กร ซึ่งทุกคนต้องทำ และมีมาตรการทำข้อตกลงร่วมกัน จนกระทั่งทุกคนเห็นพร้อมกันว่าควรเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมทั้งหมด ถ้าทุกคนพร้อมใจกัน ตกลงใจว่าจะเปลี่ยน ให้ทุกคนร่วมมือกันกำหนดเป็นคุณธรรมหลัก อะไรก็ได้ 3 ข้อ ที่ทุกคนในโรงพยาบาลตัดสินใจกันว่าถ้าเอาคุณธรรมหลัก 3 ข้อนี้ขึ้นมา จะทำให้โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ตัวอย่างด้านข้อตกลงโรงพยาบาล เช่น ต้องตกลงกันภายในองค์กรว่าควรจะมี 1.ความซื่อสัตย์ 2.ความรับผิดชอบ 3.จิตอาสา เราจะต้องแปลงคุณธรรมหลักมาเป็นนโยบายสำหรับคนทุกกลุ่มทั้งผู้บริหาร ผู้ให้บริการ โดยทุกกลุ่มเอาไปใช้ ให้เขาตกลงกันว่า เจ้าของโรงพยาบาลถ้าจะทำท่านจะซื่อสัตย์ต่อการบริการอย่างไร ในฐานะที่เป็นเจ้าของ โรงพยาบาล เช่น เจ้าของโรงพยาบาลต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ไม่หนีภาษี ผู้บริหารโรงพยาบาลจะแสดงความซื่อสัตย์ต่อ โรงพยาบาลอย่างไร นั่นหมายถึงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีความโปร่งใส และผู้ให้บริการจะต้องไปคุยกันในหมู่ของตนเองว่าจะแสดงความซื่อสัตย์ต่อโรงพยาบาลตนเองอย่างไร ต่อบทบาทของตนเองอย่างไร รวมถึงความรับผิดชอบและจิตอาสาอย่างไร เป็นต้น "ก่อนจะมาเป็นอาเซียนหรือหลังเป็นอาเซียนแล้วเขาอยากทำอะไร และวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของอาเซียนว่าเรามีความต่างมากกว่าความเหมือน เพราะการที่จะตกลงกันคงต้องใช้เวลา และมีการต่อรองกันจาก 1 ม.ค.58 เป็น 31 ธ.ค.58 ได้ไหม เพราะแต่ละประเทศปรับตัวกันไม่ทัน อยากให้พวกเราช่วยกันป้องกันในเรื่องความเลวร้ายของการคอร์รัปชันทุจริต ซึ่งประเทศไทยหนักมาก" นายแพทย์เกษม กล่าว
การสร้างโรงพยาบาลคุณธรรม ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงลงมาถึงผู้ปฏิบัติระดับล่าง ซึ่งเป้าหมายของอาเซียนคือ การทำเพื่อมนุษยชาติ และเราจะต้องไปถึงตรงนั้นให้ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เมษายน 2556
- 68 views