เครือข่ายผู้ป่วย-สหภาพ เตรียมบุก สธ. 24 เมษาฯ ร้อง 'นพ.ประดิษฐ'หยุดให้ร้าย อภ. อดีต ปธ.บอร์ดแจงทุกอย่างทำตามขั้นตอนมาตรฐาน 'เอวีแอล'
เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า วันนี้ดีเอสไอจะต้องสอบปากคำเจ้าหน้าที่ อภ.ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ได้รับการติดต่ออ้างว่าไม่สะดวกเข้าให้ข้อมูล ดังนั้นจะพิจารณาออกหมายเรียก และจะเสนอให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอออกหนังสือเรียก นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าชี้แจง วันที่ 22 เมษายน เวลา 13.00 น. และให้ออกหนังสือเรียก นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม มาให้ข้อมูล วันที่ 23 เมษายน เวลา 09.00 น. ด้วย
"การเชิญทั้งสองรายมาให้ข้อมูลนั้นเพื่อให้โอกาสฝ่ายผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเหตุผล ในทุกประเด็นที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงในการให้ข้อมูลกับดีเอสไอ ทั้งเรื่องของ การทักท้วงขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง" นายธานินทร์กล่าว
นายธานินทร์ยังกล่าวว่า จากการให้ข้อมูลของ นพ.ประดิษฐ ยังพบข้อมูลว่ามีการตกลงสัญญาผูกพันกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่สามารถผลิตไข่ไก่ปลอดเชื้อให้กับโรงงานผลิตวัคซีน โดยองค์การเภสัชฯจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทผู้ผลิต เพราะบริษัทผู้ผลิตต้องมีการเตรียมการเพาะไข่ไก่ ก่อนโรงผลิตวัคซีนจะเสร็จ แต่เมื่อโรงงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนด จึงอาจส่งผลเสียหายกับทางราชการได้
"นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญ คือการตั้งข้อสังเกตและข้อท้วงติงขององค์การอนามัยโลก ที่เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนของประเทศไทย ว่า การวิจัยยังไม่มีข้อสรุป ยังไม่มีผลการทดลอง และยังไม่ชัดเจนในเรื่องของปริมาณไข่ไก่ ดังนั้นคำถามหรือข้อสงสัยที่เกิด ทาง อภ.จะต้องตอบให้ได้ว่าเหตุใดจึงต้องเร่งรีบก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนทั้งๆ ที่ องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับรองผล เพราะหากไม่ได้รับรอง ผลิตวัคซีนออกมาก็ไม่สามารถนำมาใช้กับคนได้" นายธานินทร์กล่าว
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ปี 2549-2552 กล่าวว่า ข้อเท็จจริงของการเลือกบริษัทที่ส่งวัตถุดิบให้นั้น มีมาตรฐานตามหลักสากล โดยบริษัทจะต้องผ่านการรับรองที่เรียกว่า AVL หรือ Approved Vendor List ซึ่งจะต้องมีเกณฑ์ต่างๆ ทั้งมีมาตรฐานการผลิตครบถ้วน ผ่านการตรวจโรงงานที่ผลิตวัตถุดิบอย่างถูกหลักสากล และต้องมีการนำวัตถุดิบนั้นๆ มาตรวจสอบคุณภาพและทดลองการผลิต ซึ่งบริษัทที่ อภ.เลือกนั้นผ่านมาตรฐานทั้งหมด และมีการประกวดราคาอย่างถูกต้อง
นพ.วิชัยกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ดีเอสไอสงสัยเหตุใด อภ.ต้องจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราฯไว้ในสต๊อก ขอชี้แจงว่า ขณะนั้นตรงกับช่วงน้ำท่วม ยาพาราฯจัดเป็นยาพื้นฐานที่ต้องสำรอง และสาเหตุที่ อภ.เตรียมจะผลิตเองก็เพราะว่าเมื่อครั้งอดีตเคยว่าจ้างบริษัทจนหลายคนมองว่า อภ.ควรมีศักยภาพผลิตเองมากกว่า จึงมีการปรับปรุงโรงงานในการผลิตยาพาราฯ แต่การปรับปรุงต้องใช้เวลา เพราะการผลิตยาแต่ละชนิดต้องมีมาตรฐาน โรงงานก็เช่นกัน ประกอบกับเกิดภาวะน้ำท่วมทำให้ต้องพิถีพิถันให้โรงงานได้คุณภาพมากที่สุด
"สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่า อภ.ผลิตเองไม่ได้ และซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้เฉยๆ แต่วัตถุดิบที่ซื้อมาต้องสำรอง เพราะช่วงน้ำท่วมพอดี และการที่บอกว่าโรงงานเภสัชกรรมทหารซื้อวัตถุดิบเองได้นั้น ก็ใช่ แต่ขั้นตอนในการตรวจคุณภาพ รวมทั้งการคัดเลือกบริษัทต้องได้การรับรอง AVL ซึ่ง อภ.ทำอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ อภ.จึงเป็นผู้สั่งซื้อวัตถุดิบเอง และให้โรงงานเภสัชกรรมทหารด้วย เรื่องนี้จึงมีเหตุผลในตัวเอง แต่การที่ รมว.สาธารณสุขทำเรื่องนี้ใหญ่โต ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร แสดงว่าต้องการทำให้ อภ.เกิดภาพลบ แทนที่คนทำงานจะเดินหน้าต่อ ต้องมาคอยชี้แจง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะทราบมาว่าประเด็นต่างๆ ทาง อภ.เคยชี้แจงรัฐมนตรีหมดแล้ว" นพ.วิชัยกล่าว
ขณะที่นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตรวจสอบเรื่องยาพาราเซตามอล หรือเรื่องใดก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องดี แต่การที่รัฐมนตรี การตรวจสอบเรื่องยาพาราเซตามอล หรือเรื่องใดก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องดี แต่การที่รัฐมนตรี สธ.พยายามชูว่ามีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือการนำเสนอการตรวจสอบ อภ. ถือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า อภ.ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือในการผลิตยา ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ แถมเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติเข้ามาอีก เพราะหากไทยไม่สามารถผลิตยาสามัญ ซึ่งเป็นยาที่หมดอายุสิทธิบัตรจากต่างชาติแล้ว สุดท้ายก็ต้องซื้อยาราคาแพง แบบนี้รัฐมนตรี สธ.เอื้อประโยชน์แก่ใครหรือไม่
"ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคร้ายแรงต้องทนทุกข์กับการขาดโอกาสเข้าถึงยารักษาที่มีราคาแพง เพราะบริษัทยาข้ามชาติผูกขาดตั้งราคาไว้สูง โดยอ้างสิทธิบัตรยา แต่ในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายใช้สิทธิโดย รัฐหรือที่เรียกว่าซีแอล และมอบให้ อภ. ซึ่ง เป็นวิสาหกิจของรัฐเป็นหัวหอกจัดหายาที่มีคุณภาพเหมือนกัน แต่ราคาถูก จากต่างประเทศเข้ามาใช้แทน รวมทั้ง อภ.สามารถผลิตยาเองได้ด้วย ซึ่งช่วยประเทศชาติได้มาก" นายอภิวัฒน์กล่าว
นายอภิวัฒน์กล่าวอีกว่า จากการทำลายภาพพจน์เชิงธุรกิจของ อภ.ด้วยการเอากรณีการก่อสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้าและข่าวการปนเปื้อนของวัตถุดิบยาพาราฯ เป็นการสร้างกระแสข่าวทำลายความน่าเชื่อถือ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และสหภาพ อภ. จะรวมตัวกันไปประท้วงการกระทำของรัฐมนตรี สธ.
ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐทำบทบาทหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และทบทวนตัวเองว่าสมควรทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสหภาพ อภ.ว่าจะฟ้องร้องฐานละเมิดสิทธิผู้ป่วย หาก อภ.ไม่สามารถผลิตยาหรือนำเข้ายาสามัญที่มีคุณภาพแต่ราคา ถูกกว่ายาจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผู้ป่วยจำนวนมากจะประสบปัญหาคุณภาพชีวิตแน่นอน
แหล่งข่าวสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 24 เมษายน ทางชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตภูธร เภสัชกร และพยาบาล จะรวมตัวบุกกระทรวง สธ. เช่นกัน และจะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้ตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายระบบสาธารณสุขของรัฐ เอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 เมษายน 2556
- 1 view