คุณภาพชีวิตที่ดีของคนโดยส่วนใหญ่นั้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ต้องมาจากการได้รับบริการทางแพทย์ หรือคุณภาพการรักษาพยาบาล ที่ดีจากแพทย์และพยาบาล แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณภาพการรักษาพยาบาล ต้องขึ้นอยู่กับเงินที่โรงพยาบาล หรือแพทย์ จะได้รับจากผู้ป่วย มีเงินมาก ก็ได้บริการดี ยาดี มีเงินน้อย ก็ได้บริการปานกลาง ถ้าไม่มีเงินเลย ก็ได้บริการแบบพอประทังชีวิตไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงตามความในมาตรา 80(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะไม่กลายเป็นเพียงอุดมคติในความฝันของผู้ร่างกฎหมายกระนั้นหรือ
มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้
(1)..............(2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ...
ถ้าเป็นข้าราชการ คนกลุ่มนี้เราอาจไม่ต้องห่วงเขา เพราะกลุ่มนี้สามารถขอเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ คนกลุ่มทำงานทั่วไปก็อาศัยประกันสังคม ซึ่งเมื่อก่อนบางโรงพยาบาลเอกชนผู้ป่วยประกันสังคมเข้ารับการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเขาก็รักษาเต็มที่ บาทหนึ่งก็ไม่ต้องจ่าย แต่ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งกรณีผู้ป่วยประกันสังคม หากคุณหมอจ่ายยาซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชี จ่ายยานำเข้าจากต่างประเทศ หรือยี่ห้อทางการค้าของต่างประเทศ ผู้ป่วยก็อาจต้องจ่ายเงินเพิ่มนะครับ ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็อาศัยโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือจ่ายเงินสดด้วยกระเป๋าตนเอง ก็ว่าไป
คำถามที่น่าต้องฉุกคิด กับสิ่งธรรมดาที่เห็นจนชินตาสำหรับประชาชน คนธรรมดาเดินดินอย่างเราๆ ก็คือ คุณภาพการรักษาพยาบาล หรือบริการทางการแพทย์ ในบุคคลทุกกลุ่ม มันได้มาตรฐานเท่ากันทุกกลุ่ม จริง ตามสิ่งที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศวาดฝันให้รัฐบาลทำเป็นนโยบายได้จริงหรือไม่
ปัจจัยหลักสองตัว ซึ่งน่าจะสะท้อนความแตกต่างในคุณภาพการบริการที่ผู้ป่วยจะได้รับ คือ 1.ผู้ป่วยมีสิทธิเบิกอะไรได้หรือไม่ 2.ผู้ป่วยเลือกเข้าโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาพของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน ช่างเป็นภาพที่ดูสวยสดงดงามกว่า โรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการต้อนรับผู้ป่วย ที่มีประชาสัมพันธ์คอยต้อนรับ มีน้ำดื่มพิเศษคอยบริการ การพูดจาที่ดูไพเราะ สุภาพ ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์การให้บริการให้ดูดีขึ้น แต่อย่างไรก็ยังไม่น่าจะถึงขั้นของโรงพยาบาลเอกชนอยู่ดี
ในขณะที่การเข้าโรงพยาบาลของรัฐ ถ้ามีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในฐานะข้าราชการ หรือใช้ประกันสังคมได้ ก็ดูว่าต้องจ่ายส่วนต่างอีกเท่าไร ก็ยังถือว่าภาระที่เบาสำหรับผู้ป่วย แต่หากใช้สิทธิ 30 บาท คำถามตัวโตๆ ก็คือ คุณภาพการรักษาพยาบาล ดีจริงๆ ยาที่ใช้ ก็ยานำเข้าจากนอก คุณภาพดีจริง ใช่หรือไม่ ส่วนคนมีประกันชีวิตก็สบายหน่อย หมดห่วงเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาล ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนเขาก็บริการได้เต็มที่เพราะโรงพยาบาลอย่างไรก็ได้เงินค่ารักษาแน่นอน
เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ จะวาดฝันให้ชาวบ้านออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ จะได้ไม่เจ็บไม่ไข้ จะได้ไม่ต้องมาหาหมอ โรงพยาบาลของรัฐจะได้หมดห่วงเรื่องงบประมาณที่จะได้จากรัฐ มันก็ออกจะอุดมคติเกินไปนะครับ บางคนเข้าฟิตเนสทุกวันก็ยังอุตส่าห์ป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ เป็นโรคไต โรคตับ ก็ยังมี แปลกดี
คุณภาพการรักษาพยาบาล ในส่วนที่เกี่ยวกับยารักษาก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าผู้ป่วยอย่างมาก โรงพยาบาลบางแห่ง ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนจะมีผู้แทนขายยาเข้าไปติดต่อเรื่องซื้อขายยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ อยู่เป็นเนืองๆ บางแห่ง แปะเวลาที่จะให้ผู้แทนขายยามาพบไว้หน้าห้องตรวจโรคก็ยังมีเลย ซึ่งยารักษาโรค คือหนึ่งในปัจจัยของตัวเลขค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน ค่าตรวจโรค ส่วนใหญ่ราคาตายตัว ไม่ค่อยต่างกัน แต่ค่ายาต่างหากที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่นับค่า x ray ค่าเจาะเลือด ค่ากายภาพบำบัด หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในเรื่องบริการทางการแพทย์
มีกรณีตัวอย่างจากคนรู้จักที่เข้ารับบริการจากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ใช้สิทธิประกันสังคม บวกบัตรประกันสุขภาพกลุ่มของที่ทำงาน เพื่อเข้ารับการรักษาโรค แผนกการเงินของโรงพยาบาลบอกให้จ่ายเงินเพิ่มเป็นพันบาท บอกว่าเป็นยานอกที่หมอสั่งจ่ายให้ผู้ป่วย ถ้าใช้สิทธิประกันสังคมจะไม่มียาเหล่านี้
คำถามตัวโตๆ ก็คือ ผู้ป่วยทุกคนต้องพร้อมจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่ายา เหล่านี้ได้ทุกคนเชียวหรือ ถ้าไม่มี คำถาม ความกังวลใจต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลย่อมมีแน่นอน
บางโรงพยาบาลเอกชนเห็นผู้ป่วยไม่พร้อมเรื่องเงินค่ารักษาที่จะนอนโรงพยาบาล และไม่มีสิทธิเบิก ป่วยเป็นคออักเสบ ขนาดเป็นหนอง หายใจไม่ออก ก็ฉีดยาแก้อักเสบให้ 1 เข็ม จ่ายยาแก้อักเสบให้ แถมคิดเงินตอนกลับนับพันบาทอีก แล้วก็ไล่กลับบ้านไป ผู้ป่วยดีแค่วันเดียว กลับมาป่วยหนักกว่าเดิมอีก จนเกือบแย่ ต้องพาเข้าโรงพยาบาลโดยด่วน
ข้อน่าสังเกตในเรื่องค่ายารักษาโรคที่โรงพยาบาลจ่ายให้ผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลบางแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จะไม่เคยแจ้งราคายาที่ชัดเจนให้ผู้ป่วยทราบว่า ยาในถุงที่ได้รับมาโรงพยาบาลคิดเงินต่อแผง ต่อเม็ด ต่อขวดเท่าใด บางแห่งจะบอกแต่ราคารวมของยา
การเงินของโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งบอกว่า จะให้รายละเอียดรายการค่ารักษาพยาบาลต่อเมื่อจะเอาไปเบิกเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว ค่ายาที่คิดเงินกับผู้ป่วยควรจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียดโดยไม่ต้องขอ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าค่ายาที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง แม้จะแจกแจงรายละเอียดออกมา เมื่อนำยาดังกล่าวไปเปรียบเทียบจำนวนต่อราคากับร้านขายยาขนาดใหญ่บางแห่งในท้องตลาด กลับพบเรื่องประหลาด ไม่เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมยาที่ได้รับมีราคาที่สูงกว่าร้านขายยาภายนอกเสียอีก ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลซื้อยาจากผู้ผลิต และจำนวนยาที่สั่งก็มาก ก็น่าจะได้ราคาที่ถูกกว่าร้านขายยาภายนอกด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็น่าจะราคาใกล้เคียงกัน
ส่วนกรณีค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งแทบไม่ต้องพูดถึง แพงกว่าเป็นเท่าสองเท่าก็มี ยกตัวอย่างผู้ป่วยบางรายเป็นแค่ลมพิษ จ่ายยาแก้แพ้ 10 เม็ด มูลค่าจริงที่ซื้อจากร้านขายยาขนาดใหญ่จากภายนอก 25 บาทต่อแผง ซึ่งร้านขายยาภายนอกเขาขายราคานี้ก็ยังมีกำไรนะครับ บวกยาทา ขวดละ 60 บาท ค่าตรวจ 300 บาท แต่ใบเสร็จรับเงิน กล้าคิดเงินผู้ป่วยเฉพาะค่ายาเกิน 500 บาทครับ
ท้ายสุดนี้ หลายคนอาจบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา โรงพยาบาลเอกชนเขาก็อย่างนี้แหละกำไรมากหน่อย ของรัฐก็กำไรน้อยหน่อย จะเอาอะไรมากครับ ก็จริงครับ แต่เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นความตายของคน ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดูแลเรื่องราคาค่ายาที่เรียกเก็บจากผู้ป่วย ชาวบ้านหรือผู้ป่วยบางราย บางคนที่ซื้อยากินเอง ทะลึงทำหน้าที่หมอ วินิจฉัยโรคให้ตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบแพทย์ ก็เพราะเหตุผลที่ว่า มันถูกกว่าไปหาหมอไปหาที่โรงพยาบาล
จริงๆ เรื่องนี้ทางออกในการแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมาย มันก็มีนะครับ แต่ก่อนที่จะคิดเรื่องข้อกฎหมาย วิธีการง่ายๆ ถ้าผู้บริหารโรงพยาบาลไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชน บางแห่ง จะจริงใจ ช่วยเหลือคนไข้ โดยอย่าหากำไรจากค่ายามากจนเกินไป และโปร่งใส
เพียงแค่นี้ก็น่าจะเป็นทางออกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาล ไม่ขึ้นอยู่กับเงินที่มีในกระเป๋าของผู้ป่วย ได้แล้วกระมังครับ
ผู้เขียน : ผศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 เมษายน 2556
- 384 views