นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลโดยการนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหา ให้ความช่วยเหลือข้าราชการท้องถิ่นในการเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าเทียมกับข้าราชการพลเรือนโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน และเข้ารักษาได้ทุกแห่งในโรงพยาบาลของรัฐ โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.56 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการลงนามความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และตัวแทนของสมาคม สมาพันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายชัดเจนจะสามารถใช้ได้ทันในวันที่ 1ต.ค.56 ในงบประมาณปี 2557 นั้นทุกอย่างได้ดำเนินการตามขั้นตอน ขณะนี้ร่างพระราชกฤษีกาตั้งกองทุนฯ เสร็จเรียบร้อยไปแล้วและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอไปยัง สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสถ. สปสช. สำนักงานการกระจายอำนาจฯต่างเห็นพ้องต้องกันและเข้าใจในปัญหาของข้าราชการท้องถิ่นเป็นอย่างดีและที่ประชุมคณะกรรมการการกระจาย อำนาจฯได้มีมติกันเงินงบประมาณ 7,000 ล้านบาทไว้เรียบร้อยแล้ว
นายศักดิพงศ์ กล่าวต่อว่า แต่วันนี้สำนักงบประมาณ มีความเห็นแย้งว่า ควรจะไปเอาเงินจากเงินภาษีของท้องถิ่นจัดเก็บเอง หรือเงินภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้ท้องถิ่นแล้วดึงคืนกลับมายังกองทุนฯซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะจะต้องโอนเงินจากท้องถิ่นกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศไปยังกองทุนฯอีกครั้งหนึ่ง และขอให้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการการเงินฯของคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ อีกครั้ง ซึ่งพวกเราเห็นว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน และย้อนกลับมาที่เดิม ณ วันนี้วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะแบ่งให้กับท้องถิ่นร้อยละ 35 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีความเป็นไปได้เลย ขณะนี้ท้องถิ่นได้แค่ 27.27เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล และเงินกองทุนฯนี้ ไม่ได้ไปสร้างภาระหรือตั้งจ่ายรายการขึ้นใหม่ให้กับรัฐบาลกลางแต่อย่างใด และวันนี้รัฐบาลกลางใช้วงเงินนี้เกินครึ่งที่ใช้อำนาจเข้ามาก้าวล่วงความเป็นอิสระอำนาจของท้องถิ่น โดยได้กำหนดให้เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ระบุวัตถุประสงค์ ตั้งแต่เบี้ยยังชีพคนชรา คนพิการ อาหารกลางวันฯลฯ ดังนั้นการที่จะกำหนดว่าเงินกองทุนฯดังกล่าวมาจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ หรือเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด
"เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนกับเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะไปทำความเข้าใจและดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายของท่านนายกรัฐมนตรี การที่จะใช้เงินจากกระเป๋าซ้ายหรือใช้เงินกระเป๋าขวา ก็ยังคงเป็นเงินในส่วนของท้องถิ่นอยู่เหมือนเดิม ควรจะลดขั้นตอนเกินความจำเป็นออกไป หากมีปัญหาทำให้การตั้งกองทุนฯครั้งล้มเหลว ผู้บริหารและข้าราชการท้องถิ่นจากทั่วประเทศพร้อมระดมพลังชุมนุมอย่างแน่นอน" นายศักดิพงศ์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 18 เมษายน 2556
- 1 view