ปักกิ่ง- ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ลามออกนอกมณฑลทางภาคตะวันออกของจีนแล้ว หลังเด็กหญิงวัย 7 ขวบเป็นเหยื่อจากกรุงปักกิ่งรายแรกที่ติดเชื้อ ล่าสุดชาวมณฑลเหอหนานในภาคกลางล้มป่วยเพิ่มอีก 2 ราย ยอดตายพุ่งเป็น 13 ศพ ขณะติดเชื้อเพิ่มเป็น 60
ผู้ติดเชื้ออีก 2 รายจากมณฑลเหอหนานตามที่มีรายงานข่าวผ่านสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันอาทิตย์ กับอีก 4 รายที่เจ้อเจียงและ 3 รายที่เซี่ยงไฮ้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดนี้ในจีนเพิ่มเป็น 60 รายแล้ว ส่วนผู้เสียงชีวิตเพิ่มเป็น 13 รายหลังมีผู้ป่วยในเซี่ยงไฮ้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ทางการจีนเพิ่งประกาศข้อมูลเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนว่าพบไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่เชื้อสู่มนุษย์เป็นครั้งแรก โดยเริ่มมีคนติดเชื้อและล้มป่วยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ผู้เชี่ยวชาญกำลังหวั่นเกรงถึงความเป็นไปได้ที่ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ในคนจะกลายพันธุ์ ทำให้สามารถแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะโรคระบาดทั่วได้ อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก (WTO) แถลงยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานไวรัสเอช 7 เอ็น 9 สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน
ผู้ป่วยและเสียชีวิตในจีนที่ผ่านมาล้วนเป็นชาวเมืองทางภาคตะวันออกของจีน ตั้งแต่นครเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียง ทั้งเจ้อเจียง, เจียงซู และอานฮุย กระทั่งเมื่อวันเสาร์ จึงมีรายงานยืนยันว่าเด็กหญิงวัย 7 ขวบชาวกรุงปักกิ่งล้มป่วย พ่อแม่ของเด็กหญิงทำงานค้าขายสัตว์ปีก โดยเด็กเริ่มป่วยและถูกส่งเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว ด้วยอาการไข้สูง, เจ็บคอ, ไอ และปวดศีรษะ แต่อาการของเด็กดีขึ้นและทรงตัวแล้ว ส่วนพ่อแม่เด็กไม่แสดงสัญญาณการติดเชื้อ
ผู้ป่วย 2 รายใหม่จากมณฑลเหอหนานในภาคกลางของจีนที่มีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ รายหนึ่งเป็นเชฟภัตตาคารวัย 34 ปีจากเมืองไคเฟิง เริ่มมีอาการไข้หวัดเมื่อราว 1 สัปดาห์ก่อน ตอนนี้ยังนอนป่วยขั้นวิกฤติอยู่ในโรงพยาบาล อีกรายเป็นเกษตรกรวัย 65 ปีจากเมืองโจ่วโคว อาการทรงตัว ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และผู้คน 19 รายที่ติดต่อใกล้ชิดกับคนทั้งสอง ยังไม่มีใครแสดงอาการของไข้หวัด
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนยังไม่รู้แน่ชัดว่าไวรัสชนิดนี้แพร่เชื้อได้อย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะแพร่จากสัตว์ปีกสู่มนุษย์โดยตรง ทำให้หลายเมืองสั่งกำจัดสัตว์ปีกขนานใหญ่
องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เคยกล่าวไว้ว่า ไวรัสเอช 7 เอ็น 9 ปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ปีกซึ่งแทบจะไม่แสดงอาการป่วยหรือไม่ก็มีอาการน้อยมาก รูปแบบดังกล่าวจึงทำให้การหาแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อกระทำได้ยาก
ไมเคิล โอเลียรี ผู้แทนอนามัยโลกประจำจีนได้กล่าวชื่นชมทางการจีนซึ่งเคยถูกตำหนิว่าปกปิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ว่าองค์การอนามัยโลก "พอใจอย่างมาก" ที่จีนแบ่งปันข้อมูลกับภายนอก และ "ข่าวดี" ก็คือขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่มนุษย์สามารถแพร่เชื้อแก่กันได้โดยตรง และแต่ละรายที่ติดเชื้อก็อยู่กระจัดกระจายไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน
"ไม่มีทางที่เราจะทำนายได้ว่ามันแพร่กระจายได้อย่างไร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจถ้าเราจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสถานที่อื่นๆ แบบที่เราพบในกรุงปักกิ่ง" ผู้แทน WTO กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 15 เมษายน 2556
- 1 view